มทร.ล้านนา น่าน MOU บริษัทไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด เดินหน้าความร่วมมือวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์ต้นแบบ ผนวกงานวิจัยและนวัตกรรม “ผักตบชวา” สู่อาหารเลี้ยงสัตว์ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและชุมชนมีรายได้ยั่งยืน
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน โดย ผศ.ดร.จตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา น่าน ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ระยะเวลา 15 ปี กับบริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด โดย นายศิวพงศ์ เลื่อนราม ประธานกรรมการ บริษัทไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ โดยให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบในสถาบันการศึกษา เพื่อจัดสร้างฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนในสาขาสัตวศาสตร์และประมง ทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิตปศุสัตว์และประมง และบริการวิชาการสู่ชุมชน ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ต.ฝายแก้ว อ.ภูเพียง จ.น่าน ซึ่งมีภาคส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ร่วมเป็นพยานการทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้
รองศาสตราจารย์ ดร. เกชา คูหา รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ได้มีงานวิจัยการใช้ผักตบชวา เป็นวัตถุดิบใช้ทดแทนอาหารเลี้ยงสัตว์ทั้งโคนม ไก่ไข่ กระบือ และสุกร ได้กว่า 30% เพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกร โดยมีการทดสอบและทดลองเพื่อสร้างเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัย โดยองค์ความรู้ชุดนี้ จะสามารถนำไปแก้ไขปริมาณผักตบชวา ที่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในหลายพื้นที่ของประเทศได้ ส่วนในพื้นที่จังหวัดน่าน จะมีการวิจัยโดยใช้ซังและเปลือกข้าวโพด มาทำเป็นวัตถุดิบใช้ทดแทนอาหารเลี้ยงสัตว์ด้วยเช่นกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาและหมอกควันไฟ รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนอาหารเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกรด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร. สุนทร วิทยาคุณ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า พันธกิจสำคัญและเป็นหลักในการผลิตบัณฑิตด้านสัตวศาสตร์และประมง มีการทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตปศุสัตว์และประมง และการบริการวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมแก่ชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพ ให้ชุมชนมีรายได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน ซึ่งบริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด เป็นภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการรีไซเคิลขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การนำวัตถุดิบชีวมวล วัตถุดิบผลพลอยได้ทางการเกษตรแปรรูปประยุกต์เพื่อใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ และเพื่อเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงด้วยนวัตกรรม “เครื่องแปลงเศษอาหารและเศษวัชพืชด้วยจุลินทรีย์ภายใน 24 ชั่วโมง” ความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ และภาคเอกชนที่มีนวัตกรรม จะได้สร้างองค์ความรู้ใหม่เชิงอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และประมง ที่มีการวิจัยเป็นฐานต่อยอดสู่การผลิต การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมช่วยในการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และประมง
สำหรับ MOU ที่เกิดขึ้นนี้ จะส่งผลให้ มทร.ล้านนา น่าน เป็นศูนย์ต้นแบบความเป็นเลิศด้านทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบในสถาบันการศึกษา เพื่อจัดสร้างฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ ที่มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย สำหรับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ฝึกประสบการณ์อาชีพการทำปศุสัตว์และประมง ทั้งยังเป็นศูนย์ส่งเสริมและบ่มเพาะธุรกิจปศุสัตว์และประมง เป็นศูนย์พัฒนาอาชีพการทำปศุสัตว์ อาทิ ศูนย์การตลาดเนื้อคุณภาพ ศูนย์กลางตลาดน้ำนมดิบ ศูนย์กลางตลาดไข่ไก่และไข่เป็ด และเป็นศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ และอื่น ๆ รวมทั้งเป็นศูนย์การศึกษา วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี อาชีพและการทำปศุสัตว์และประมง ให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เกษตรกร ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนใจอาชีพปศุสัตว์และประมง ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร เกิดรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน นำไปสู่การลดการใช้พื้นที่ทำการเกษตรเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ขยายผลสู่การออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพสีเขียวบนฐานนวัตกรรม และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาระหว่างการเรียน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ด้วย
ระรินธร เพ็ชรเจริญ รายงาน