Sunday, 22 December 2024 - 6 : 21 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

มทร.ล้านนาน่านลุยวิจัย”มะนาว –มะแข่น”ของดี ต.ยอด อ.สองแควขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

มทร.ล้านนาน่านเดินหน้างานวิจัยหนุน”มะนาว –มะแข่น”ของดีตำบลยอด อ.สองแคว พร้อมดึง อพท. ชวนชุมชนเปิดการท่องเที่ยว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนฐานราก

สำนักวิจัยและพัฒนา (สวพ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สนับสนุนงบประมาณดำเนิกโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมในเขตพื้นที่สูง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประชาชน จังหวัดน่าน” ในพื้นที่บ้านยอด ตำบลยอด อ.สองแคว จ.น่าน เพื่อช่วยชุมชนค้นหาศักยภาพและพัฒนาของดีที่มีอยู่ในชุมชนให้กลายเป็นรายได้ที่ยั่งยืน โดยทีมคณะอาจารย์ ประกอบด้วย อาจารย์วรรณิดา ชินบุตร สาขาการตลาด หัวหน้าโครงการ อาจารย์ จารุนันท์ เมธะพันธุ์ และ อาจารย์ ปิยะนุช สินันตา สาขาศิลปศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ได้ เป็นผู้รับผิดชอบงานวิจัย

อาจารย์ ปิยะนุช สินันตา เล่าว่า บ้านยอด ตำบลยอด เป็นแหล่งปลูกมะนาวที่มีคุณภาพ สามารถส่งมะนาวขายให้กับบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด แต่มะนาวที่ตกเกรด มีจำนวนมากและชาวบ้านยอดยังไม่สามารถสร้างมูลค่าได้ ทีมคณะวิจัยจึงได้ร่วมกันนำมะนาวที่ไม่สามารถขายส่งได้ มาพัฒนาเป็น “แยมมะนาวผสมน้ำผึ้งสเปรด”บรรจุขวด ซึ่งใช้ทาขนมปัง หรือจะผสมน้ำร้อนกลายเป็นเครื่องดื่มได้ หลังได้ผลิตภัณฑ์แล้ว จึงได้ทดลองนำออกบูธเพื่อทดสอบรสชาติความพึงพอใจ ซึ่งได้การตอบรับที่ดี มียอดสั่งซื้อ ทำให้วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะนาวบ้านยอด มีความมั่นใจกับผลิตภัณฑ์สินค้าแยมมะนาวผสมน้ำผึ้งมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ คณะวิจัยยังได้ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG ตำบลยอด ร่วมกันพัฒนา “มะแข่น” ซึ่งเป็นของดีของตำบลยอด เป็นซอสรสมะแข่นบรรจุขวด ที่มีการปรับปรุงรสชาติให้อร่อย ใช้ง่าย สามารถใช้เป็นซอสเอนกประสงค์ที่ใช้ได้อย่างหลากหลายเมนู ทั้งนี้มุ่งหวังให้งานวิจัย สามารถช่วยชุมชนให้นำทรัพยากรท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่ารายได้ ซึ่งขณะนี้ ทั้งแยมมะนาวผสมน้ำผึ้งสเปรด และ ซอสรสมะแข่น เริ่มทยอยออกสู่ตลาด มีการสั่งจองสั่งซื้อเข้ามาเรื่อยๆ

นอกจากผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนแล้ว ยังได้จัดกิจกรรม พัฒนารูปแบบและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมในเขตพื้นที่สูง ผ่านการสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการร่วมสมัย เปิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมในเขตพื้นที่สูง โดยได้เชิญ นายณัฐกิตต์ กุมพะยาน เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท.6 ซึ่งเชี่ยวชาญด้านองค์ความรู้การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นวิทยากร บรรยาย “การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน” ให้กับแกนนำชุมชนบ้านยอด และกลุ่มผู้จ้างงาน U2T ตำบลยอด อ.สองแคว จ.น่าน เพื่อฉายภาพรวมทิศทางและโอกาสด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมชวนคิด ชวนค้นหาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่

โดยพบว่า “น้ำตกห้วยหาด” มีศักยภาพที่จะนำมาพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวของชุมชนได้ เนื่องจาก ใกล้ชุมชน เส้นทางสะดวก ตลอดเส้นทางมีวิวธรรมชาติงดงาม ตัวน้ำตกห้วยหาด มีเส้นทางเดินเข้าถึงได้ง่าย เป็นเส้นทางศึกษาทางธรรมชาติที่น่าสนใจ ชุมชนสามารถนำมาพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวได้ โดยเชื่อมโยงเส้นทางกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ถ้ำสะเกิน ซึ่งอยู่ในเขต อ.สองแคว รวมทั้ง บ่อน้ำร้อนโป่งกิ ต.ผาทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน หรือ น้ำตกที่สวยงามแห่งอื่นๆ ในพื้นที่ตำบลยอด และ เชื่อมโยงได้ถึง วนอุทยานภูลังกา ต.ช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา

หลังจากนี้คณะวิจัย จะดำเนินการ ค้นหาความต้องการด้านการจัดการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับชุมชนบ้านยอด ให้สอดคล้องกับสภาพวิถีการดำรงชีวิตที่เรียบง่ายงดงามต่อไป

© 2021 thairemark.com