Saturday, 20 April 2024 - 5 : 12 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ต้นทุนพุ่ง 60-70% เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขอปรับราคา “น้ำนมดิบ”กิโลกรัมละ 4-5 บาทเพื่อความอยู่รอด

เกษตรกรโคนมวอนรัฐเร่งแก้ราคาน้ำนมดิบ เนื่องจากค่าใช้จาย ค่าบริหารจัดการฟาร์มเพิ่มขึ้นมาก หวั่น FTA ที่ในปี 2568 อัตราภาษีการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นร้อยละ 0 จะทำลายอาชีพผู้เลี้ยงโคนมไทย ผลจากต้นทุนการผลิตแพง เกษตรกรหมดใจในการทำมาตรฐานฟาร์ม

จากกรณีชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด หรือมิลค์บอร์ด ได้ขอให้มีการปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จากเดิม 17.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 19.75 บาทต่อกิโลกรัม และปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโคหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมจาก 19 บาท เป็น 20.50 บาท รวมทั้งขอให้มีการชดเชยให้กับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 0.75 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยได้ยื่นเรื่องผ่านกรมปศุสัตว์ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

นายเอกชน ศรีสวัสดิ์ อายุ 50 ปี เกษตรกรชาว ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า เริ่มทำอาชีพนี้มาตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันมีโคนม รวม 45 ตัว แบ่งเป็นแม่โคท้อง จำนวน 5 ตัว และแม่โครีดนม 15 ตัว สามารถรีดน้ำนมได้วันละประมาณ 120 กิโลกรัม ที่เหลือเป็นโคสาวและลูกโค จำนวน 20 ตัว ซึ่งในแต่ละวันจะมีค่าใช้จ่ายบริหารจัดการฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ายาเวชภัณฑ์ และค่าอาหารสัตว์เป็นเงินสูงอยู่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ราคาราคาน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุดิบอาหารสัตว์ ตลอดจนราคาของปุ๋ยเคมี และยารักษาสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนที่ยังไม่รวมค่าแรงงาน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60-70 อาทิ อาหารข้น จากเดิมที่เคยซื้อสูตรโปรตีน 18 น้ำหนัก 30 กิโลกรัม ราคากระสอบละ 295 บาท ปรับขึ้นมาอีกกระสอบละ 70 บาท เป็น 365 บาท ขณะที่ราคารับซื้อน้ำนมดิบปัจจุบันอยู่ที่ 19 บาทต่อกิโลกรัม

นายเอกชน กล่าวอีกว่า ราคน้ำนมดิบที่เป็นอยู่ไม่เพียงพอกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบอย่างน้อยกิโลกรัมละ 3-4 บาท เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกร แม้ว่ามิลค์บอร์ดจะยื่นเรื่องขอให้ปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ตนและเพื่อนเกษตร ทั้งฟาร์มขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางมองเห็นและวิตกกังวลอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่ในปี 2568 อัตราภาษีการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นม ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย-ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเป็นร้อยละ 0 ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศถูกกว่าราคาน้ำนมดิบของไทย ดังนั้นนอกจากการปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบแล้วรัฐบาลควรควบคุมราคาต้นทุนการผลิต รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือในด้านอื่นเพิ่มขึ้น เพราะหากยังต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ เกษตรกรจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก ยังส่งผลต่ออาชีพเกษตรกรโคนมไทยในอนาคตอีกด้วย

ปัจจุบันจ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงโคนมจำนวนมาก ปัจจุบันมีเกษตรกรรวมกว่า 24,083 ราย และโคนมจำนวน 43,670 ตัวจากรายงานข้อมูลพื้นฐานเดือนพฤษภาคม 2565 ของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดราชบุรี ระบุปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พบว่า เกษตรกรขาดเงินลงทุนในการปรับปรุงคอกสัตว์เพื่อให้เข้าเงื่อนไข และการเข้าสู่มาตรฐาน GFM เป็นภาคสมัครใจ การลงทุนเพิ่มขึ้น แต่เงินตอบแทนเท่าเดิมทำให้เกษตรกรไม่สนใจเข้าสู่มาตรฐานฟาร์ม เกษตรกรไม่มีงบประมาณในการจ้างสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม และไม่มีแหล่งจูงใจในการทำมาตรฐานฟาร์ม เนื่องจากการทำมาตรฐานฟาร์มเป็นการทำแบบภาคสมัครใจ หากค่าตอบแทนไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรต้องลงทุนสูงขึ้น ทำให้ไม่มีใจที่จะปรับเปลี่ยน.

© 2021 thairemark.com