Tuesday, 29 April 2025 - 10 : 45 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

นักวิชาการ ชี้ ไทย-สิงคโปร์ สำลักพิษเทรดวอร์ มากสุดในอาเซียน เตือนเศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการประเมินเศรษฐกิจล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศพบว่า ไทย สิงคโปร์ ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารุนแรงสุดในอาเซียน โดยคาดการณ์ว่าไทยจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงแค่ 1.8% ในปีนี้ และ สิงคโปร์จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงแค่ 2%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ DEIIT มองว่ามีความเป็นไปได้สูง โดยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจะปรากฎชัดตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป กรณีของไทยอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคหรือภาวะเงินฝืดอ่อนๆได้ หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังอย่างทันท่วงที การที่ประเทศไทยและสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารุนแรง เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมีระดับการเปิดประเทศสูง พึ่งพาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมาก

โดยเฉพาะสิงคโปร์มีระดับประเทศสูงสุดในอาเซียน จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของมูลค่าการค้าโลกสูง แม้นประเทศไทยจะมีตลาดภายในใหญ่กว่าหลายประเทศในอาเซียนแต่เนื่องจากมีโครงสร้างประชากรสูงวัย หนี้สินครัวเรือนสูง การปรับทิศทางมาพึ่งพาเศรษฐกิจและตลาดภายในมากขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย การกระตุ้นการบริโภคภายในมีขีดจำกัด การจะทำให้ “ไทย” พ้นภาวะเติบโตต่ำสุดในอาเซียนนั้นต้องมีการปฏิรูปทุกมิติ ลงทุนยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มลงทุนนวัตกรรมและทรัพยากรมนุษย์

ระยะสั้นต้องผ่อนคลายทั้งการเงินการคลัง ผ่อนคลายกฎระเบียบ ชะลอการเลิกจ้างจากภาคส่งออก ลดความเหลื่อมล้ำ ปิดความเสี่ยง Social Unrest ปัญหาความขัดแย้ง การแยกขั้ว ความตึงเครียดทางสังคม จะเพิ่มมากขึ้น เรื่อย ๆ ท่ามกลางความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ภาวะดังกล่าวจะทำให้ “มวลชน” ไม่พึงพอใจต่อภาวะความเหลื่อมล้ำสูงเพิ่มสูงขึ้นจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำ และ ผู้มีอำนาจต้องตอบสนองอย่างเหมาะสมและทันกาลเพื่อป้องกันให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

สัญญาณการเลิกจ้างในภาคส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ขอให้ติดตามข้อมูลการผลิตและการจ้างงาน เช่น การแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตาม มาตรา 75 พรบ. คุ้มครองแรงงาน ผู้ผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จะส่งออกได้น้อยลงในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อเจอภาษีตอบโต้ ผู้ส่งออกจากหลายประเทศก็จะหันมาส่งออกแข่งกับไทยในตลาดเดียวกันมากขึ้น รวมถึงส่งออกมายังไทยมากขึ้นเมื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯได้น้อยลงจากกำแพงภาษี

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวสูงถึง 11.7% ในช่วงปี พ.ศ. 2530-2533 และในช่วงทศววรษ 2530 ไทยเคยเติบโตทางเศรษฐกิจในบางปีสูงถึง 13.3% ต่อปี สะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง การมียุทธศาสตร์และนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสมในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม

และ มีความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโควิดล่าช้าและการฟื้นตัวเป็นรูป K-Shape อย่างชัดเจน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียนหลายปีติดต่อกันและมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 3% และ ล่าสุดปีนี้อาจต่ำกว่า 2% สัดส่วนของการลงทุนเทียบกับจีดีพีอยู่ในระดับต่ำ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐหรือกิจการที่สัมปทานให้เอกชนดำเนินการก็มักจะมีการทุจริตรั่วไหลและเบี่ยงเบนไปจากหลักวิชาการ

ส่วนกรณีที่รัฐบาลการกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทของกระทรวงการคลังเพื่อนำมาใช้จ่ายดูแลเศรษฐกิจนั้น ต้องเน้นไปที่การลงทุน มาตรการประชานิยมพักหนี้ แจกเงิน อาจไม่ได้ช่วยทำให้เศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน เพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บรรเทาปัญหาวิกฤติหนี้สิน การใช้จ่ายเงินภาครัฐจากการกู้เงินจึงต้องให้ตรงเป้าหมาย เกิดผลตามนโยบาย มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ต้องตระหนักว่า ขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยที่ระดับ 64.21% นั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนแล้ว หากก่อหนี้สาธารณะอีก 5 แสนล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องทำให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้นจึงไม่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงขึ้นจนต้องขยับเพดาน

ขณะที สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft Loans) อาจช่วยบรรเทาปัญหาทางการเงินของ SMEs ได้บ้าง ลดความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของ SMEs ได้บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้มีการปรับโครงสร้างภาคธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อพลวัตอุปสงค์ตลาดโลก มาตรการ Soft Loans จึงต้องทำควบคู่กับการปรับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม

การปรับเปลี่ยนทางธุรกิจ ปฏิรูประบบการให้สิทธิพิเศษการลงทุนต่างชาติ การลงทุนต้องทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการผลิตของไทยและต้องมีมาตรการกำกับควบคุมไม่ให้มีการสวมสิทธิเพื่อการส่งออกโดยไม่ได้ทำการผลิตใดๆในไทยหรือใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบในไทยเพียงเล็กน้อย บางทีก็เป็นเพียงการทำ Transshipment ขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าประเทศหนึ่ง ไปยัง เรือสินค้าจากไทย และ มีติดฉลากว่า Made in Thailand

ทั้งนี้สหรัฐฯตัดงบช่วยเหลือ USAID กระทบบริการสาธารณสุขและการช่วยเหลือมนุษยธรรมตามแนวชายแดนในไทย ระบบสาธารณสุขไทยตามแนวชายแดนจะรับภาระหนัก ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม การดูแลรักษาพยาบาลต้องสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด ไม่ใช่เพียงมิติทางด้านมนุษยธรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องการควบคุมโรคระบาดตามแนวชายแดนให้มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข สังคมและเศรษฐกิจโดยรวม

© 2021 thairemark.com