นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป จะมีผลบังคับใช้ จากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ สำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ ที่มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564
มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) มีวัตถุประสงค์สำคัญในการยกระดับการผลิตไข่ไก่ของประเทศ ให้มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการผลิต การป้องกันโรคระบาดสัตว์ โรคสัตว์สู่คน และสารตกค้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และปกป้องอุตสาหกรรมจากภัยคุกคามของโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญนั้น ทั้งนี้ มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ภาคบังคับ กำหนดขึ้นโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ตามมาตรฐานบังคับและ มกอช. ได้มอบหมายภารกิจในการออกใบอนุญาตฯ ให้แก่กรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่ออกใบรับรองมาตรฐาน GAP
โดยที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ ร่วมกับ มกอช. ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเข้าสู่มาตรฐาน GAP ภาคบังคับให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรที่เข้าข่ายบังคับในการเข้าสู่การรับรองซึ่งกรมปศุสัตว์มีความพร้อมในการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกร และสามารถติดต่อขอใบอนุญาตและใบรับรองได้ที่หน่วยงานเดียว (one stop service)
โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ TAS-License ได้ที่ http://tas.acfs.go.th/nsw/ มีค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลธรรมดา 100 บาท และนิติบุคคล 1,000 บาท (ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าเกษตร พ.ศ. 2552) และสามารถยื่นขอใบรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ Biz portal ผ่านทาง https://bizportal.go.th/ หรือติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ที่ฟาร์มตั้งอยู่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับฟาร์มไก่ไข่ขนาดกลางและเล็ก ที่มีขนาดการเลี้ยง 1,000 – 9,999 ตัว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอที่จะยกเว้น ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและใบรับรอง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยืนยันการเสนอ ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการ เพื่อยกเว้นฟาร์มไก่ไข่ขนาดระหว่าง 1,000 – 9,999 ตัว ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและใบรับรอง
ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีแล้วและสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่น้อยกว่า 1,000 ตัว มีจำนวน 125,972 ราย ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของมาตรฐานฟาร์ม GAP ดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะมีการส่งเสริมให้เข้าสู่มาตรฐานทางเลือก เช่น ปศุสัตว์อินทรีย์ หรือฟาร์มไก่ไข่เลี้ยงปล่อยอิสระต่อไป
การที่เกษตรกรได้รับรองมาตรฐาน GAP นี้ จะสามารถยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของไข่ไก่ที่ผลิตจากฟาร์มได้ มีสุขอนามัยการผลิตที่ดี ลดความเสี่ยงของโรคระบาดและโรคสัตว์ติดคนและการปนเปื้อนสารตกค้าง อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะ สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 3155 หรือส่งข้อมูลได้ที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ./