Monday, 3 February 2025 - 5 : 49 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

‘Climate Tech’ควงคู่ ‘Food & Health Tech’มาแรง เทรนด์สตาร์ทอัพ 2025

ยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจสตาร์ทอัพต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกระแสเงินทุน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาปรับโฉมอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา การอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับไอเดียที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความสามารถในการปรับตัวและคว้าโอกาสให้ทัน

ในอุปสรรคก็ยังมีโอกาส อย่าง กลุ่มเทคโนโลยีที่กำลังเติบโต เช่น 1. เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) 2. เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (GreenTech) เทคโนโลยีสะอาด (CleanTech) และ Climate Tech และ 3. และเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ที่มีความต้องการสูง ซึ่งเป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพขยายตลาดให้กับนักธุรกิจหรืออุตสาหกรรลงทุน ยังเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ เผยภาพรวมการเติบโตของสตาร์ทอัพไทย ปี 2024 และเทรนด์ในปี 2025 ที่จะขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทย

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพรวมของสตาร์ทอัพในช่วงหลังจากสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน สตาร์ทอัพมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2021 จะพบว่า สตาร์ทอัพมีการเติบโตสะสมถึง 3.3% และในปี 2024 อัตราการระดมทุนในรอบ Seed เพิ่มขึ้น 4% ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดเศรษฐกิจ เป็นผลจากการขับเคลื่อนผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การจัดทำสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก เพื่อค้นหาเยาวชนที่สนใจในการทำสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้น

ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนสตาร์ทอัพในประเทศไทยประมาณ 2,100 ราย และในจำนวนนี้มีสตาร์ทอัพที่ยังดำเนินกิจการอยู่ประมาณ 800 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีสตาร์ทอัพในกลุ่ม FinTech หรือเทคโนโลยีด้านการเงินมากกว่า 300 ราย ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่อัตราการเติบโตสูงขึ้น และกลุ่มที่มาแรงที่สุดในตอนนี้คือ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ถูกนำมาใช้ในหลากหลายด้าน เช่น การให้บริการพฤติกรรมผู้บริโภค การวิเคราะห์การลงทุน มีเดีย ขนส่ง การแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และการศึกษา เป็นต้น ในอนาคตคำว่า AI อาจจะกลายเป็นคำที่ใช้เรียกเทคโนโลยีในทุกด้านของอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับคำว่าดิจิทัลที่เราใช้ในปัจจุบัน อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจคือ Climate Tech ซึ่งเกี่ยวข้องกับ Green Transformation โดยสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้นำโซลูชั่นต่าง ๆ ไปขยายผลให้กับบริษัทและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

เทรนด์สตาร์ทอัพในปี 2025 ดร.กริชผกา มีมุมมองว่า สตาร์ทอัพที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องคือ FinTech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีด้านการเงินที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ส่วน AIจะมุ่งเน้นไปที่การขยายการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น พร้อมกับการปรับตัวของบุคลากรในการ Upskill และ Reskill เพื่อให้สามารถใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กลายเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในยุโรปที่มีการบังคับใช้ EU AI Act ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ควบคุมความเสี่ยงของ AI  4 ระดับ ได้แก่ 1. ความเสี่ยงสูงมาก (ห้ามใช้) เช่น การใช้ AI วิเคราะห์ด้านความมั่นคงของชาติ การเลือกตั้ง หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว 2. ความเสี่ยงปานกลาง (ทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด) เช่น การใช้ AI กับข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องผ่านมาตรฐานการคุ้มครอง 3. ความเสี่ยงต่ำ (สามารถใช้งานได้ทั่วไป)  เช่น การนำ AI ไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องผ่านมาตรฐานที่กำหนด แต่ยังคงให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และ4. ไม่มีความเสี่ยง (ใช้ได้อย่างเสรี) ช่น Chatbots หรือระบบอัตโนมัติที่ไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้

นอกจาก AI และ FinTech แล้ว Climate Tech หรือเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม จะได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากทุกภาคส่วนเริ่มให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสภาพอากาศและพลังงานสะอาด อีกหนึ่งกลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็วคือ Food & Health Tech ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่มีการขยายตัวของกลุ่มสตาร์ทอัพที่ได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพของประชากรโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เป้าหมายผลักดันสตาร์ทอัพไทย ดร.กริชผกา แสดงความเห็นว่า การขยายจำนวนและยกระดับสตาร์ทอัพเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพเข้าสู่ระบบปีละ 400 ราย จากเดิมที่เพิ่มขึ้นปีละ 200 ราย พร้อมกับผลักดันให้บางรายเติบโตสู่ระดับยูนิคอร์นให้ได้ 1-2 ตัว  โดยเฉพาะในกลุ่ม Climate Tech ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการสูง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและ SME ที่ต้องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเริ่มเผชิญกับมาตรการ ภาษีคาร์บอน ทำให้นวัตกรรมสีเขียวกลายเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะเดียวกัน FinTech ยังคงเติบโตได้ดี เพราะมีช่องทางขยายตัวหลายรูปแบบ

“ในการส่งเสริมกลุ่มสตาร์ทอัพผ่านโครงการสตาร์ทอัพไทยแลนด์ลีก ยังมี โครงการ Deep Tech ที่กำลังเร่งผลักดัน เนื่องจากเทคโนโลยีเชิงลึกนี้มีศักยภาพเติบโตในระยะยาวและลอกเลียนแบบได้ยาก ปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่เชี่ยวชาญด้านวิจัยและบ่มเพาะสตาร์ทอัพกว่า 10 แห่งกำลังร่วมมือกันเพื่อผลักดันการลงทุนด้านเทคโนโลยี แต่ในเวทีโลก ประเทศไทยยังถูกมองว่าเป็น ดินแดนแห่งอาหารอร่อยและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงาม มากกว่าประเทศแห่งนวัตกรรม ความท้าทายคือการผสาน เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ากับอุตสาหกรรมดั้งเดิม เพื่อสร้างจุดแข็งให้ทั้งสองด้านดำเนินไปพร้อมกัน” ดร.กริชผกา กล่าว

ทั้งนี้ขยายผลเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ (GROWTH) ผ่านโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพใน 4 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีอาหาร (โครงการ SPACE–F) เทคโนโลยีเกษตร (โครงการ AGROWTH) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) รวมถึงการส่งเสริมและเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จทางนวัตกรรมผ่านโครงการนิลมังกร ซึ่งมีการต่อยอดเป็นนิลมังกร 10X ที่เน้นสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมคุณภาพสูงให้เข้าสู่ตลาดทุนโดยตั้งเป้ายอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทใน 3 ปี โดยมุ่งขยายและสร้างโอกาสต่อยอดสู่ระดับโลก (Global) ผ่าน Global startup hub ที่จะช่วยส่งเสริม

อีกเป้าหมายในการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นชาตินวัตกรรม ดร.กริชผกา กล่าวว่า การขยายย่านนวัตกรรม เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการสร้างสนามทดลองให้สตาร์ทอัพ โดยมีพื้นที่สำคัญที่กำลังได้รับการพัฒนา เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ที่มุ่งเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย โดยเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพนำเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาทดลองใช้จริง และเตรียมขยายพื้นที่ไปยังรพ.ศิริราชและรพ.จุฬาฯ, ย่าน Creative Tech ในพื้นที่จตุจักร-บางซื่อ จะเป็นศูนย์กลางของเทคโนโลยีสร้างสรรค์

ขณะที่ย่าน Cyber Tech จะอยู่บริเวณทรู ดิจิทัล พาร์ค จะเน้นไปที่เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ส่วนย่าน AI กำลังมองพื้นที่บีเวณอารีย์ จะเป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาและทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์ ยังมีการส่งเสริมย่านนวัตกรรมในต่างจังหวัด เช่น UBON ART FEST ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งผสานศิลปะเข้ากับนวัตกรรม เพื่อขยายศักยภาพของสตาร์ทอัพระดับภูมิภาค การกระจายนวัตกรรมสู่พื้นที่ต่างๆ ไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยี แต่ยังเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในตลาดโลก

“อีกส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพ คือ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (พรบ. สตาร์ทอัพ) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 ในขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา มีประมาณ 40 มาตรา คาดว่าจะเข้าสู่ครม. ภายในปีนี้ ซึ่งหากมีการประกาศใช้จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้มีฐานข้อมูลสตาร์ทอัพที่ได้การยอมรับ และสตาร์ทอัพได้รับสิทธิประโยชน์ตามดงื่อนไขพรบ. นอกจากนี้เงินลงทุนสนับสนุนให้แก่สตาร์ทอัพโดยตรง และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงการพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพในอนาคต” ดร.กริชผกา กล่าว

© 2021 thairemark.com