Sunday, 5 January 2025 - 1 : 13 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

แนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่า ปี 2025 สดใส กลุ่มตะวันออกกลางหนุนตลาดโต

นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมทูน่าไทยในปี 2024 ว่าเติบโตได้ค่อนข้างดี ในช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของกลุ่มขยายตัว 24.6%YOY เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่เติบโตสูงถึง 35.2%YOY ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีนี้จะสามารถฟื้นกลับไปอยู่สูงกว่าช่วง Pre-COVID ได้อีกครั้ง สอดคล้องกับภาพรวมการบริโภคในตลาดโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น

อนึ่ง ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวได้รับอานิสงส์จากอุปทานปลาทูน่าจับได้ (Tuna catch) ที่เพิ่มขึ้นมากจากผลพวงของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้อุณหภูมิในมหาสมุทรอุ่นขึ้น (Ocean warming) ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและทำให้มหาสมุทรสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ยังมีผลให้ฝูงปลาทูน่าย้ายถิ่นฐาน (Tuna migration) หนีคลื่นน้ำอุ่นไปรวมตัวกันในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของมหาสมุทรเยอะมากเป็นพิเศษ จึงส่งผลดีต่อการทำประมงในบริเวณนั้น

นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่าในปี 2025 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องจะขยายตัวที่ 6.2%YOY สอดคล้องกับภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกที่ดีขึ้นยังเป็นผลจากการเติบโตของความต้องการบริโภคอาหารฮาลาล สะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้าทูน่ากระป๋องจากประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง (Middle East) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical risks) ที่ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องการสต็อกสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นานโดยเฉพาะอาหารกระป๋องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 ในระยะข้างหน้า ความท้าทายหลักที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทูน่าต้องให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือ คือมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานทาสและแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางการไทยต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำหนด รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับมาตรการกำกับดูแลการทำประมงอย่างยั่งยืน (Sustainable fishing) พร้อม ๆ ไปกับการปรับโมเดลธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโตให้สอดรับกับเมกะเทรนด์สำคัญของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์เรื่องอาหารปลอดภัย และ Healthier choice เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภคยุคใหม่ รวมทั้งการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Carbon-neutral tuna products” ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน

โดยมีเป้าหมายเพื่อลด Carbon footprint ในห่วงโซ่การผลิตทูน่าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ภายในปี 2050 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ Digitization และตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการทั้งความทันสมัยและความสะดวกสบาย พร้อม ๆ ไปกับลดการพึ่งพาแรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก 

© 2021 thairemark.com