Monday, 23 December 2024 - 10 : 01 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

‘ต้มยำกุ้ง – เคบายา’ มรดกวัฒนธรรม ต่อยอดเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้มั่นคง

กระทรวงวัฒนธรรม ชวนพี่น้องชาวไทยร่วมงานฉลอง ต้มยำกุ้ง – เคบายา มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ชิมฟรีต้มยำกุ้ง ปรุงโดยเชฟตุ๊กตา และเชฟเมย์ เชฟกระทะเหล็ก  ร่วมด้วยนางสาวไทย (ดินสอสี) ปี 67 พร้อมรองอันดับ ๑ และ อันดับ ๒ เดินแฟชั่นโชว์ชุด เคบายา สวยงามประทับใจชาวไทยและต่างชาติ สร้างกระแสให้ทุกภาคส่วนร่วมสืบสานต่อยอดมรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืน

กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดพิธีเปิด งานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity : RL) ประจำปี 2567 ในพิธีเปิดงาน นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธาน โดยมี นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมด้วย Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร เชฟชุมพล เชฟระดับมิชลิน และเป็นผู้ทำอาหารไทยเสิร์ฟในเวทีเอเปค 2022 (APEC 2022) พร้อมคณะทูตานุทูต 8 ประเทศ ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เมียนมา จีน สิงคโปร์ กัมพูชา และมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์

นางสาวสุดาวรรณ ประธานได้กล่าวแสดงความยินดี ในงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา ว่า เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 19 ณ เมืองอะซุนซิออง สาธารณรัฐปารากวัย เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา  ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2559 และได้ดำเนินการร่วมกับชุมชนเสนอรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งปัจจุบัน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เป็นมรดกวัฒนธรรมฯ รวม 6 รายการ คือ “โขน” ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ “นวดไทย” ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ “โนรา” ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และ “สงกรานต์” ปี พ.ศ. ๒๕๖๖ และในปี 2567 คือ ต้มยำกุ้ง และ เคบายา

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า ในวาระแห่งการฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย ขอประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาและสืบทอด รายการมรดกภูมิปัญญาฯ “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” โดย๑.ประเทศไทย จะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอด และสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญา ให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน ๒.จะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญของมรดกภูมิปัญญา ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ซึ่งสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ๓.จะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษา และทุกศาสนา ให้ร่วมกันส่งเสริม รักษา และสืบทอดมรดกภูมิปัญญา ทั้ง 2 รายการ ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“รัฐบาลและประชาชนไทย จะร่วมกันดำเนินการในทุกวิถีทางอย่างเต็มความสามารถ ให้เจตนารมณ์ทั้ง ๓ ข้อ บรรลุผลสัมฤทธิ์ เพื่อสนับสนุนให้มรดกภูมิปัญญา “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” ดึงดูดให้ผู้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศ  ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการให้บริการ ด้วยการพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรม” รมว.วธ.กล่าว

รมว.วธ.กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีแผนในการส่งเสริมและต่อยอดมรดกวัฒนธรรม หลังจากยูเนสโก ขึ้นทะเบียน ต้มยำกุ้ง – เคบายา แล้ว ด้วยการขับเคลื่อน Soft power ด้านอาหาร และ ด้านแฟชั่น ตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม จะนำเศรษฐกิจทางวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร เกม รายการโทรทัศน์ รวมถึงสื่อออนไลน์ ให้สอดแทรกเนื้อหา ต้มยำกุ้ง เพื่อสร้างกระแสความนิยมในวงกว้าง และบูรณาการกับภาคธุรกิจ-การท่องเที่ยว

ในการนำ ต้มยำกุ้ง เป็นเมนูหลัก เมนูอาหารต้องชิม เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย บรรจุลงในโปรแกรมการท่องเที่ยว และเป็นเมนูอาหารที่ต้องระบุไว้ในรายการอาหารขึ้นโต๊ะผู้นำ รวมทั้งผู้เข้าร่วมในการประชุมที่จัดในประเทศไทย หรือที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เชิญชวนให้ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยวและการบริการ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขายเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขายเมนูต้มยำกุ้ง รวมถึงยอดขายวัตถุดิบต่างๆ  และยังเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าและสาระของเมนูต้มยำกุ้งไปสู่ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอีกด้วย และในส่วน ภาคชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนโดยมุ้งเน้นบูรการร่วมกับหอการค้า สมาคม ชุมชน เครือข่ายในพื้นที่ ที่มีวัฒนธรรมการแต่งกายเคบายา ร่วมจัดแคมเปญพิเศษในการส่งเสริมการขาย ด้วยการเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติสวมใส่ ชุดเคบายา พร้อมถ่ายรูปท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างสีสันไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ของชุมชนอีกด้วย

ทั้งนี้ บรรยากาศในพิธีเปิดงานฉลองฯ เริ่มด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม การแสดงแฟชั่นโชว์ ชุดเคบายา โดย นางสาวพนิดา เขื่อนจินดา (ดินสอสี) นางสาวไทย ปี ๒๕๖๗ พร้อมด้วยรองนางสาวไทย อันดับ ๑ และ อันดับ ๒ และผู้แสดงจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์จากนั้น ประธานกล่าวแสดงความยินดี และได้สาธิตสาธิตการทำต้มยำกุ้ง    พร้อมให้ผู้เข้าร่วมพิธีเปิดได้ชิมฟรี  ทั้งนี้ ภายในงานมี นิทรรศการ นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับ “ต้มยำกุ้ง และเคบายา” สาธิตการปรุง/ประกอบอาหารต้มยำกุ้ง ให้ประชาชนชิมฟรี โดยเชฟตุ๊กตา (ร้านบ้านยี่สาร) เชฟกระทะเหล็ก ในวันที่ 6 ธ.ค. และพบเชฟเมย์ พัทรนันท์ ธงทอง เชฟกระทะเหล็ก 7-8 ธ.ค. นี้  นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการปักและจัดทำชุดเคบายา พร้อมซุ้มอาหารและจำหน่ายเครื่องแต่งกายเคบายา จากจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล  ผู้ที่มาเที่ยวงานยังได้อิ่มอร่อยกับร้านอาหารที่ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ระดับชาติ อีก 20 บูธ ตลอดทั้ง 3 วัน

ภายในงานยังมีนิทรรศการให้ความรู้รายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก (UNESCO) จำนวน 4 รายการ ได้แก่ โขน (2561) นวดไทย (2562) โนรา (2564) และสงกรานต์ (2566) รวมด้วยการแสดงทางวัฒนธรรม สร้างสีสัน ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2567 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ Quartier Avenue ชั้น G ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรฝั่งแพลตฟอร์มเดลิเวอรี แกร็บ ประเทศไทย ในการร่วมฉลองต้มยำกุ้งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ผ่านการมอบโค้ดส่วนลดเมื่อสั่งเมนูต้มยำกุ้งผ่านแกร็บฟู้ด เพียงใส่โค้ด ‘TOMYUM’ รับส่วนลดสูงสุด 30 บาท เมื่อสั่งขั้นต่ำ 100 บาท ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 6 – 25 ธันวาคม 2567  ทั้งนี้ ร้านค้าที่เข้าร่วมในแคมเปญ ประมาณ 24,000 ร้าน’

© 2021 thairemark.com