นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือด้านการวิจัยและแถลงผลงาน เรื่อง “งานวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนาต้นแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะสำหรับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย (Thailand Epidemic AI)” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงานแถลงข่าวในครั้งนี้ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนายแพทย์วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวแสดงความยินดีผลสำเร็จของงานวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนาต้นแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ สำหรับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย (Thailand Epidemic AI) และมี รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของงาน ซึ่งจัดขึ้นภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 (Thailand Research Expo 2024) ณ เวทีกิจกรรม Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า กระทรวง อว. มีหน้าที่ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแลการวิจัยและการสร้างสร้างสรรค์นวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษา ให้เกิดความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมาหน่วยงานทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคระบาดที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต จะเห็นได้ว่าความร่วมมือในด้านงานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและการมีส่วนรวมของภาคสาธารณสุขในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะสำหรับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ จะเป็นฐานข้อมูลสำหรับสถานการณ์โรคระบาดภายในประเทศ ทำให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช. ได้ให้การสนับสนุนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในการนำร่องทดลองพัฒนาระบบในการพยากรณ์โรคระบาดร่วมกับกรมควบคุมโรคโดยนำหลักการการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial Intelligence) เข้ามาใช้ในการจัดการข้อมูลและพยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโรคระบาดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พบว่า การพยากรณ์โรคระบาดที่มีสถิติการติดเชื้อมาก่อนมีผลที่ค่อนข้างน่าพอใจและระบบนี้ยังเป็นประโยชน์ในแง่ของการตรวจจับแนวโน้มโรคระบาดที่จะเกิดขึ้น ทั้งโรคระบาดเดิมและโรคระบาดใหม่ได้ เนื่องจากช่วงที่เกิดวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมานั้น ได้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ทั้งโครงการ Smart Med-Supply ที่ช่วยในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ของการบริจาคยาและเวชภัณฑ์, โครงการ Track and Trace ของวัคซีนโควิด-19 เพื่อช่วยในการบริหารจัดการวัคซีนของทั้งประเทศไทย
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขสู่ความเป็นเลิศในด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นงานที่ได้เข้าร่วมการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย หรือ “Thailand Epidemic Al” ภายใต้ความร่วมมือในการสนับสนุนข้อมูลในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานที่ให้ข้อมูล คือ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่รับข้อมูล คือ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ภายหลังการแถลงข่าว ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยการพัฒนาต้นแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะสำหรับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย (Thailand Epidemic AI) ประกอบด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายแพทย์วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต