นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ถั่วหรั่ง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด ในทวีปแอฟริกาบริเวณตอนเหนือของประเทศไนจีเรียและคาเมรูน เป็นพืชที่มีความโดดเด่นทางโภชนาการ มีสารอาหารอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายมนุษย์ รวมทั้งยังเป็นพืชที่ต้องการปัจจัย การผลิตในการปลูกและการดูแลรักษาน้อย ทำให้หลายประเทศยกให้ถั่วหรั่งเป็นพืชความหวังในการเลี้ยงประชากรโลกในอนาคต สำหรับในประเทศไทยถั่วหรั่งเป็นพืชที่เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้นิยมปลูกและบริโภคกันแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
โดยมีพันธุ์ให้เกษตรกรเลือกปลูกเพียง 3 พันธุ์ คือ พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์สงขลา 1 (พันธุ์รับรองของกรมวิชาการเกษตร) และพันธุ์ กวก. สงขลา 2 (พันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร) ซึ่งเป็นพันธุ์ถั่วหรั่งอายุสั้น แสดงให้เห็นว่าตัวเลือกด้านพันธุ์สำหรับเกษตรกรมีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพืชตระกูลถั่วชนิดอื่น ๆ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกตลอดจนผู้บริโภคถั่วหรั่งขาดทางเลือกที่หลากหลาย
นางสาวภัทรานิษฐ์ คงมาก นักวิชาการเกษตรชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากการที่โครงการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ถั่วหรั่งได้รับเชื้อพันธุกรรมถั่วหรั่งจำนวน 500 ตัวอย่างพันธุ์มาจากสถาบันวิจัยการเกษตรเขตร้อนนานาชาติ ประเทศไนจีเรีย พบว่ามีถั่วหรั่งบางพันธุ์ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงและอยู่ในกลุ่มที่มีอายุเก็บเกี่ยวไม่เกิน 130 วัน (อายุปานกลาง) ซึ่งมีโอกาสในการพัฒนาให้เป็นพันธุ์ทางเลือกสำหรับเกษตรกรได้
ดังนั้นจึงได้เริ่มประเมินผลผลิตสายพันธุ์ถั่วหรั่งตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ในปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2551 ได้นำสายพันธุ์ถั่วหรั่งที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การเปรียบเทียบมาตรฐานพันธุ์ การเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่น การเปรียบเทียบพันธุ์ในไร่เกษตรกร และทำการทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกร พบว่าถั่วหรั่ง สายพันธุ์ TVsu1221 เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตได้สูงกว่าถั่วหรั่งพันธุ์สงขลา 1 ทั้งในพื้นที่ปลูกถั่วหรั่ง ของภาคใต้ และในขณะเดียวกันสำหรับพื้นที่ปลูกนอกเขตภาคใต้ถั่วหรั่งสายพันธุ์ TVsu1221 ก็ยังมีศักยภาพในการให้ผลผลิตได้ในลำดับสูงที่สุดในหลายแหล่งปลูกที่นำไปทดสอบ
นอกจากนี้ ถั่วหรั่งสายพันธุ์ TVsu1221 ยังมีลักษณะที่โดดเด่นที่นอกเหนือจากการให้ผลผลิตสูงคือมีเมล็ดใหญ่ และมีการติดฝักเป็นกระจุกทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ดังนั้นคณะนักวิจัยจึงเสนอถั่วหรั่งสายพันธุ์ TVsu1221 โดยตั้งชื่อพันธุ์ว่า “ถั่วหรั่งพันธุ์ กวก. สงขลา 3” ให้เป็นพันธุ์ทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วหรั่งทั้งในและนอกเขตพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเป็นการเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายสำหรับผู้บริโภคและลดความเสี่ยงต่อการระบาดของศัตรูพืชจากสาเหตุการปลูกพืชเพียงพันธุ์เดียวเป็นวงกว้าง
“ถั่วหรั่งพันธุ์ กวก. สงขลา 3” มีลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูง โดยให้ผลผลิตฝักสด 544 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธ์สงขลา 1 ที่ให้ผลผลิตฝักสด 364.3 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตฝักแห้งเฉลี่ยเท่ากับ 183.6 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สงชลา 1 ที่ให้ผลผลิตฝักแห้ง 102.5 กิโลกรัมต่อไร่ และมีน้ำหนัก 100 เมล็ดเฉลี่ยเท่ากับ 49.2 กรัม ซึ่งสูงกว่าพันธุ์สงขลา 1 ให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนัก 100 เมล็ด 41.8 กรัม และจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง
เมล็ดแห้งของถั่วหรั่งพันธุ์ กวก. สงขลา 3 พบว่ามีปริมาณโปรตีนถึง 19.10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าพันธุ์สงขลา 1 ที่มีปริมาณโปรตีน 14.98 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญ “ถั่วหรั่งพันธุ์ กวก. สงขลา 3” มีศักยภาพในการให้ผลผลิตสูงแม้ปลูกในพื้นที่อื่นที่นอกเหนือจากภาคใต้ที่เป็นแหล่งปลูกหลัก เกษตรกรและผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเรื่องพันธุ์ได้ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่สงขลา โทรศัพท์ 0-7420-5980” นางสาวภัทรานิษฐ์ กล่าว