Sunday, 22 December 2024 - 1 : 57 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

แม่ไก่ไม่ไข่ ผลผลิตน้อย ราคาปรับตามกลไกตลาด ภายใต้การดูแลของ “ก.พาณิชย์” 

“ไข่ไก่” เป็นหนึ่งในอาหารหลักของคนไทยมาตั้งแต่ในอดีต และเป็นอาหารที่ราคาจับต้องได้สำหรับคนทุกชนชั้น ดังนั้นเมื่อไหร่ราคาขยับขึ้นก็จะเกิดเสียงบ่นตามมาทันที โดยไม่ได้พิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการผลิตในแต่ละช่วง เช่น ดินฟ้าอากาศ ต้นทุนการป้องกันโรค วัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้นทุนพลังงาน ฯลฯ  เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญที่ผลักดันราคาเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ไม่ใช่เฉพาะสินค้าเกษตรแต่รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมด้วย แม้ผู้เลี้ยงพยายามให้ข้อมูลในส่วนนี้ แต่ผู้บริโภคหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคไม่พิจารณาเป็นหลัก  หากแต่เป้าหมายอยู่ที่ราคาที่ต้องจ่ายเท่านั้น ความจริงก็คือราคาสินค้าเกษตรมีขึ้นและมีลงตามอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply)

“ไข่” เป็นสินค้าที่ตลาดในประเทศมีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ มีผู้เลี้ยงไม่น้อยกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ ทั้งรายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ ดังนั้นการแข่งขันด้านราคาจึงสูงและเป็นไปตามกลไกตลาด (Market Mechanism) ยากที่จะมีการผูกขาด (Monopoly) หรือ ฮั้วราคากัน (Price Collusion) เพราะแต่ละกลุ่มมีอำนาจต่อรองสูง คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันสมบูรณ์นี้ คือ ผู้บริโภค ที่สำคัญคนไทยมีไข่รับประทานเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ในราคาที่เหมาะสม 

หากย้อนกลับไปดูราคาไข่ไก่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ราคาเฉลี่ยฟองละ 75 สตางค์ – 1 บาท ขณะที่ราคาล่าสุด 4 บาท ถือว่าไม่ได้ปรับขึ้นสูงกับเวลาครึ่งทศวรรษ แต่เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ปรับบ่อยเป็นรายสัปดาห์หรือรายวันก็มีประสบการณ์กันมาแล้ว จากราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลลิตรละไม่ถึง 10 บาท วันนี้ 35 บาท และยังมีกองทุนน้ำมันเพลิงอุดหนุนราคาไม่ให้แพงเกินไปมาหลายสิบปี แต่ไข่ไก่ไม่มีกองทุนใดๆสนับสนุน หรือแม้จะเปรียบเทียบกับราคาทองคำ ที่ปรับสูงขึ้นและในแต่ละวันอาจปรับขึ้น 3-5 รอบ จากราคาทองรูปพรรณ 500 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาท ปัจจุบันราคามากกว่า 40,000 บาท หรือแม้แต่เทียบกับมะนาวที่ช่วงหน้าร้อนทุกปีราคาพุ่งขึ้นไปถึง 8-10 บาทต่อลูก จากปกติ 2-3 บาท ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เห็นได้ว่าทั้งสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรมีการปรับขึ้น-ลงทั้งสิ้น

ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 แห่ง ประกาศราคาแนะนำไข่คละขึ้น 3 ครั้งๆ ละ 20 สตางค์ต่อฟอง จาก 3.40 บาท และปรับขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4 บาทต่อฟอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู ไก่ป่วย ออกไข่น้อยและขนาดเล็กลง ประกอบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น จึงต้องปรับราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน ประกอบกับเป็นช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ความต้องการไข่สูงขึ้น แต่ผลผลิตน้อยปกติ 

สำหรับราคาที่สูงขึ้นเป็น 4 บาทต่อฟอง ไม่ได้เป็นราคาสูงสุดครั้งแรก เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ราคาก็ยืนอยู่ในระดับ 4 บาทต่อฟอง จนถึงสิ้นปี และปรับลดลงช่วงต้นปี 2567อยู่ที่ 3.40 บาทต่อฟอง ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าราคาขึ้นได้ก็ลงได้ ก่อนจะมีการปรับขึ้นอีกครั้งช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน และช่วงที่ร้อนที่สุดในเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ผ่านมา ที่อากาศร้อนจัดมากกว่าทุกปี ถึงขนาดเกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่บางพื้นที่ต้องซื้อน้ำดื่มมาใช้ในฟาร์มทั้งให้แม่ไก่และใช้พ่นน้ำเพื่อลดอุณหภูมิในฟาร์ม อากาศร้อนแล้งดังกล่าวทำให้แม่ไก่ไม่ไข่ตามปกติและขนาดของไข่ฟองเล็กลง ผลผลิตโดยรวมลดลง นับเป็นปีที่ผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องแบกต้นทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี 

นอกจากนี้ ร้านอาหารจานด่วนที่มีการปรับราคาขึ้น หรือ ปรับราคาอาหารเมนูไข่ขึ้นนั้น ผู้บริโภคไม่ต้องกังวล เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการตรวจสอบและดูแลราคาอาหารตามสั่งให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ย้ำว่า การปรับขึ้นราคาไข่ไก่อยู่ที่ฟองละ 4 บาท เป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง อากาศร้อน ทำให้ไข่ออกน้อย ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล จึงได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามผลผลิตและสินค้าอื่นๆ ทั้ง ผลไม้ พืชผัก และจัดทำแผนการผลิตและช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค

โดย…ศิระ มุ่งมะโน นักวิชาการอิสระ

© 2021 thairemark.com