นับเป็นนิมิตรหมายใหม่ที่น่ายินดีด้านการฟื้นฟูการท่องเที่ยว จากที่กรมสรรพสามิตได้ลดภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภทเมื่อเร็วๆนี้ รวมถึงภาษีสรรพสามิตสำหรับไวน์ โดยลดอัตราภาษีตามมูลค่าลงครึ่งหนึ่งจาก 10% เป็น 5% และภาษีสรรพสามิตสำหรับสุราแช่ชุมชน โดยลดอัตราภาษีตามมูลค่าจาก 10% เป็นศูนย์ มีผลตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นอกจากนี้ ภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากรายรับสถานบันเทิงยังถูกกำหนดให้ลดลงครึ่งหนึ่งจาก 10% เป็น 5% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าวว่า “มาตรการด้านภาษีเหล่านี้อาจมีผลประโยชน์เฉพาะผลิตภัณฑ์บางประเภทเท่านั้น โดยแนะนำให้มีการปฏิรูปเพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวภายในประเทศและการเติบโตของภาคการบริการ อาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในท้องถิ่น พนักงาน และรายได้ของรัฐบาล”
คุณเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า “เรารู้สึกชื่นชมต่อการดำเนินการเชิงบวกของรัฐบาลไทยในการลดภาษีสำหรับสินค้าไวน์และสุราแช่ชุมชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตอย่างมาก และช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และการท่องเที่ยวสามารถนำเสนอสินค้าและบริการในราคาที่สามารถแข่งขันและเอื้อมถึงได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนสนับสนุนกลยุทธ์ของรัฐบาลในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของซอฟต์พาวเวอร์สาขาการท่องเที่ยวและสาขาอาหาร ซึ่งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบสำคัญ รายรับภาษีที่ลดลงจากอัตราการจัดเก็บที่ลดลงจะถูกชดเชยในไม่ช้าด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของความต้องการไวน์และสุราแช่ชุมชน ตลอดจนขีดความสามารถและผลกำไรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจในซัพพลายเช่น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม ร้านอาหาร การท่องเที่ยว และการบริการ”
“เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายของรัฐบาลในการทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายและระดับพรีเมียม คือ การทำ “กิโยตินกฎหมาย” เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและตอบสนองความคาดหวังของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กำลังมองหาประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมียม อาทิ ปลดล็อคการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00 น. – 17.00 น. มาตรการโซนนิ่ง และมาตรการควบคุมการโฆษณา ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจคาดหวังว่าประเทศไทยจะมีนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความรับผิดชอบ ซึ่งผู้บริโภคมีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการ ดื่มอย่างเป็นอันตราย (Harmful Use of Alcohol) และปรับเปลี่ยนทัศนคติสู่การดื่มอย่างรับผิดชอบ ‘ดื่มอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ดื่มมากขึ้น’ (Drink Better, Not More)
สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวและอาหารโดยปี 2030 รัฐบาลไทยมุ่งมั่นในการส่งเสริมวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศผ่านซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนสำคัญ ครั้งนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งโดยการกำหนดความสำคัญของหน่วยงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TAT) ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า “โซจูเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลีและเชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำเช่นเดียวกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ท้องถิ่นของเรา เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยแล้วรู้สึกไม่ประทับใจเมื่อพบว่าราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงหรือไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงบ่ายได้ ทำให้ภาพรวมของค็อกเทลในประเทศไทยมีราคาแพงกว่าในประเทศของพวกเขาอีก ข้อบังคับอีกข้อหนึ่งที่มีผลต่อโรงแรมคือการห้ามโฆษณาเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้เราไม่สามารถประชาสัมพันธ์โปรโมชั่นที่เป็น Happy Hours ได้ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญของวิธีการสร้ารายได้ของกลุ่มโรงแรม”
ตามรายงานการวิจัยล่าสุดโดย Oxford Economics ที่เปิดตัวในประเทศไทยเดือนที่แล้ว พบว่าเครื่องดื่มไวน์และสุราต่างประเทศมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอย่างมากในประเทศไทย โดยมีความต้องการไวน์และสุราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.9 พันล้านบาท) ใน GDP ปี 2022 โดยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงิน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (0.8 พันล้านบาท) จากปี 2021 ซึ่งเป็นที่สนับสนุนให้มีงานทำ 20,500 อัตราและสร้างรายได้จากภาษีเป็นจำนวนเงิน 292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10.0 พันล้านบาท) ในปี 2022 ด้วย