Saturday, 23 November 2024 - 7 : 38 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ผู้เลี้ยงหมู วอนรัฐบาลขจัดภัย “หมูเถื่อน” แก้วิกฤต “หมูไทย”

จนถึงวันนี้ “หมูเถื่อน” ยังคงทิ่มแทงผู้เลี้ยงหมูไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยต่อเนื่อง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลขจัด “ตัวการ” บ่อนทำลาย ระบบการผลิตและบิดเบือนกลไกตลาดให้หมดสิ้นโดยเร็ว เพื่อแก้วิกฤต “หมูไทย” ที่ขาดทุนสะสมนานกว่า 10 เดือน รวมถึงเร่งให้พิจารณาแนวทางยกระดับราคาสุกรในประเทศให้เป็นไปตามโครงสร้างต้นทุนการผลิต ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เลี้ยงในการเดินหน้าสานต่ออาชีพได้อย่างมั่นใจ หนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทยในระยะยาว  

แม้ปัจจุบัน จะไม่มี “หมูเถื่อน” ล็อตใหม่เข้าในประเทศไทย แต่ยังมีหมูเถื่อนที่เล็ดลอดออกไปสู่ตลาดแล้ว 2,385 ใบขน (ซึ่งอาจจะมากกว่า 2,385 ตู้) ปริมาณมากกว่า 60,000 ตัน และยังซุกซ่อนอยู่ตามห้องเย็นทั่วประเทศ เมื่อไหร่ก็ตามที่หมูเถื่อนออกมาจากที่ซ่อน เข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดราคาหน้าฟาร์มก็จะไหลหล่นไปเรื่อยๆ จึงขอให้รัฐบาลปราบปรามเครือข่ายหมูเถื่อนให้หมดทั้งนายทุน ชิปปิ้ง นักการเมืองและข้าราชการ และเร่งนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงการยึดทรัพย์ที่เกิดจากการทุจริตให้ตกเป็นของแผ่นดินทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง

ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เดินหน้าคดีอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยัง “ไม่ถึงที่สุด” เพราะ “ผู้ร้ายตัวจริง” จับกุมได้บ้างไม่ได้บ้าง ขณะที่บางรายข่าวว่าหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ส่วนข้าราชการที่อำนวยความสะดวกให้หมูเถื่อนเข้ามาไทย ยังได้รับการปกป้อง จึงควรเร่งดำเนินคดีตามกฎหมายให้ตลอดทั้งเส้นทาง  แต่กลับกัน ตอนนี้ DSI หันไปหยิบเรื่องอื่นเติมเต็ม KPI แล้ววางคดีหมูเถื่อนไว้บนโต๊ะ แทนที่คดีจะเดินหน้าไป57’ขั้นสุด กลับต้องลากยาวไป

ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ เรียกร้องมาตลอดให้ภาครัฐปราบปรามหมูเถื่อนให้สิ้นซาก เพื่อปรับการผลิตในประเทศให้สมดุลกับความต้องการ ซึ่งจะมีผลต่อราคาที่เกษตรกรขายได้เหมาะสมกับต้นทุนและเป็นธรรมกับผู้บริโภค ที่สำคัญ “หมูไทย” เป็นหมูคุณภาพดีและปลอดภัยไร้สารเร่งเนื้อแดง และการบริโภคหมูไทยจะช่วยลดขาดทุนสะสมของเกษตรกรที่แบกภาระกันมาตั้งแต่ปี 2566

ขณะนี้ แนวโน้มราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มจะทยอยปรับขึ้นบ้าง แต่ยังไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ซึ่งต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 80-85 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาประกาศหน้าฟาร์มของสมาคมฯ ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 อยู่ที่ 68-74 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาสุกรหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เคยตกต่ำที่สุดเหลือ 50 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและพันธมิตร 6 สมาคม นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมสุกรของไทยในระยะยาวต่อรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดทุนจากราคาสุกรตกต่ำ, ขอให้กระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลราคาสินค้าสุกรและสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มให้ปรับเพิ่มราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้, ห้ามการจำหน่ายสินค้าเนื้อสุกรสดในช่องทางออนไลน์ เพราะมีผลต่อคุณภาพของสินค้าในระหว่างการขนส่งที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายซากสัตว์ เป็นต้น รวมถึงแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า เช่น การควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน การกำหนดระยะเวลานำเข้าข้าวโพดและให้มีการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าแทน เพราะมาตรการเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยมีราคาวัตถุดิบที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง และขอให้ปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ภาษีปลาป่น 15% รวมถึงภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากจะเป็นต้นทุนที่ส่งผลโดยตรงกับผู้เลี้ยงสัตว์

ที่สุดผู้เลี้ยงหมูคงฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลขอให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมสุกรอย่างยั่งยืน ทั้งการบริโภคในประเทศและเพิ่มการส่งออกในอนาคต เร่งการปราบปราม “หมูเถื่อน” ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่รัฐบาลชุดนี้ยกระดับการปราบปรามและกดดันหน่วยงานภาครัฐให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เพียงแค่หมูเถื่อนลดจำนวนลงแต่ต้องป้องกันไม่ให้เข้ามา สร้างความเป็นธรรมและนำสถานการณ์การผลิตและราคาสุกรกลับสู่ภาวะปกติภายในปีนี้ ตามที่คาดการณ์ไว้ เพื่อใช้ศักยภาพของเกษตรกรไทยในการผลิตเนื้อหมูปลอดภัยให้คนไทยได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอในราคาสมเหตุผล

โดย…อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ

© 2021 thairemark.com