Sunday, 22 December 2024 - 1 : 53 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

สวนหล่ออย่างฉลาด โบกมือลา “หมอกระเป๋า” รู้เท่าทันกระแส “ปั่นรีวิว” กับคุณหมอกุศล 

โลกโซเชียลมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะเป็นทั้งเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ในทางกลับกันเมื่อผู้ไม่หวังดีเข้ามาใช้เครื่องมือเหล่านี้ ก็กลายเป็นช่องทางที่เพิ่มปัญหาให้กับชีวิตได้ของเราได้ในทันที เกิดเป็นข่าวคราวการหลอกลวง อวดอ้าง โฆษณาเกินจริง ที่ยังคงสร้างปัญหาให้กับ “เหยื่อ”  อย่างไม่รู้จบสิ้น

วันนี้มีคำแนะนำดี ๆ จาก พ.ท.นพ.กุศล ประวิชไพบูลย์ ผู้ก่อตั้ง “ดอกเตอร์กุศล อเวนิว คลินิก” (Doctor Kusol Avenue Clinic) รู้จักกันดีในนาม “คุณหมอกุศล” ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมบนใบหน้า ด้วยประสบการณ์กว่า 35 ปี  

จากข่าว “หมอกระเป๋า”​ ที่กลับมาระบาดหนักในต่างจังหวัด จนกลายเป็นข่าวครึกโครมติดกระแส วันนี้คุณหมอกุศลจึงอยากมาย้ำเตือนกันอีกครั้งว่า “อย่าเห็นแก่ของถูก” ที่ต้องเสี่ยงกับ “บทเรียนราคาแพง” จากที่หวังว่าจะ “ปัง” อาจกลายเป็น “พัง”  จนเกินเยียวยา  และนี่คือ 5 สิ่งลวงโลกของหมอกระเป๋า สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจผิด ได้ฉุกคิดกันมากขึ้น

5 สิ่งลวงโลก ที่คุณต้องโบกมือลา “หมอกระเป๋า” 

1.หมอกระเป๋าไม่ใช่หมอ!!

คำว่า “หมอกระเป๋า” เป็นเพียงชื่อเรียกผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นหมอ แต่ไม่ใช่ “หมอ” ที่เรียนจบหลักสูตรทางการแพทย์ พวกเขาอาจจะเป็นนักแสดงตีบทแตก เพราะเคยคลุกคลีอยู่กับคุณหมอมานาน อาศัยความ “​คิดไม่ซื่อ”​ พยายามเลียนแบบการทำงานของหมอ เช่น การใช้เข็มฉีดยา แต่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญใด ๆ เรียกได้ว่า “หมอปลอม” นั่นเอง

2.ความเสี่ยงที่ไม่อาจแก้ไขได้

แค่ทำตัวเนียน ๆ แต่ไม่ได้ร่ำเรียนมา “หมอกระเป๋า” จึงไม่มีวิชาความรู้ความสามารถแบบที่แพทย์ต้องผ่านการศึกษาและฝึกฝนมาอย่างหนัก ซึ่งรู้ไหมว่า หากเลือกใช้หมอกระเป๋า อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงแบบที่ไม่อาจแก้ไขได้ เพราะภายใต้โครงสร้างของใบหน้า มีเส้นเลือดที่สลับซับซ้อนและเปราะบางมาก เช่น การฉีดฟิลเลอร์ผิดจุด หากตัวสารเข้าไปในเส้นเลือด แล้วหลุดเข้าไปในจอตา ก็อาจจะทำให้ตาบอดได้ หากหลุดขึ้นไปสมองก็ทำให้สมองมีปัญหาได้

3.อาจใช้ยาปลอม หรือของไม่มีเกรด

ยาหรือสารต่าง ๆ ที่ใช้ในคลินิกความงาม จำเป็นต้องผ่านมาตรฐานการรับรองทั้งในประเทศไทยและแหล่งผลิต  แต่ละประเทศก็มีผลิตภัณฑ์หลายเกรด ซึ่งประสิทธิภาพย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นจะอ้างแค่ว่าเป็นสารจากประเทศนั้นประเทศนี้ไม่ได้  ที่น่ากลัวมากคือ “ของปลอม”  หรือแม้แต่ “ยาหิ้ว” แม้จะเป็นของแท้จากต่างประเทศ แต่ก็มีวันหมดอายุ หรือการเก็บรักษาที่ไม่ถูกต้องก็เป็นเหตุให้เสื่อมประประสิทธิภาพได้  จึงต้องพิจารณาเจาะลึกทั้งรายละเอียดของมาตรฐานและเกรดของวัสดุนั้น ๆ โดยสามารถนำตัวเลขที่ระบุบนผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบกับทาง อย. 

4. คอนโด ใต้ต้นไม้ ป้ายรถเมล์ ก็ได้หรือ?

สถานที่ทางการแพทย์ จำเป็นต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อม ต้องมีคุณภาพและมาตรฐานที่ตรวจสอบได้ และสามารถรองรับในกรณีฉุกเฉินได้ด้วย แต่ “หมอกระเป๋า” ที่ชอบนัดเหยื่อตามบ้าน คอนโด บ้างก็เจอกันใต้ต้นไม้ หรือป้ายรถเมล์ ง่ายแบบนี้จะหามาตรฐานและความปลอดภัยได้จากไหน เกิดฉุกเฉินขึ้นมาจะทำอย่างไร

5.เหยื่อมีปัญหา รับรองว่า “หิ้วกระเป๋า” หนี!

หากเลือกใช้บริการจากคุณหมอมืออาชีพ ซึ่งมีคลินิกที่ชัดเจน จะได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน และด้วยจรรยาบรรณของแพทย์ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อคนไข้ และดูแลแก้ไขไปเป็นเคส ๆ แต่ “หมอกระเป๋า” ผู้ที่มักจะทำตัวล่องลอยไร้หลักแหล่ง  เมื่อถึงเวลาที่ “เหยื่อ” เจอปัญหา  สิ่งที่ “หมอกระเป๋า”​ จะทำเป็นอย่างแรกและอย่างไว คือ หิ้วกระเป๋าหนี ไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ หายไปทั้งหมอและกระเป๋านั่นแหละ

อย่าให้ “รีวิวเป็นเหตุ” แนะวิธีสังเกต “กลลวงศัลยกรรม”​โลกโซเชียล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เพจดังหรือกลุ่มปิด มีอิทธิพลทางการตลาดในระดับที่น่ากังวลใจไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะเป็นสินค้าใด ก็ต้องอาศัยการรีวิวหรือโฆษณา แต่จะเชื่อได้แค่ไหน เพราะความน่าเชื่อถือ จำเป็นต้องมาจากคนที่ “น่าเชื่อถือ” แต่เพราะดันไปเชื่อในสิ่งที่ “เชื่อถือไม่ได้” วงการศัลยกรรมบ้านเราจึงทำให้เกิดปัญหามากมายไม่จบสิ้น

ใครที่กำลังศึกษาข้อมูลการทำศัลยกรรม อาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาความน่าเชื่อถือของข้อมูลให้มากขึ้น เพราะโลกที่ก้าวไกลไปเท่าไหร่ มิจฉาชีพก็ปรับตัวตามไปไวเท่ากัน และอาจจะมาในรูปแบบของความหวังดีที่ประสงค์ร้ายก็เป็นได้ การติดตามข่าวสาร โปรโมชั่น ข้อมูลต่าง ๆ ในการทำศัลยกรรม ไม่ว่าจะมาจากช่องทางไหน ถือหลักง่าย ๆ ว่า ถ้าเป็นเรื่องทางการแพทย์ ต้องตรวจสอบได้

เช่น การแอบอ้างชื่อคุณหมอ ก็ต้องนำชื่อไปเช็คกับทาง “แพทยสภาว่า” มีหน้าตาตรงปกไหม หมออายุน้อยประสบการณ์ไม่มาก จะมีเคสเยอะอย่างที่เคลมกันหรือไม่ ช่องทางสื่อสารที่เราติดตามอยู่เชื่อได้แค่ไหน เป็นหน้าม้าช่วยเชียร์ หรือรวมกลุ่มกันรับรีวิวหรือเปล่า ยาที่ใช้เป็นแบบไหน ยี่ห้ออะไร ต้องนำไปตรวจสอบกับทาง อย. เป็นต้น

สรุปได้ว่า ควร “เชื่อ” คนที่  “เชื่อถือได้”  เพราะโลกโซเชียลเต็มไปด้วยใครต่อใครที่เราไม่รู้จัก ยากยิ่งนักที่จะไว้วางใจ การหาข้อมูลก่อนตัดสินใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ และ “การแพทย์” ไม่ใช่ของเถื่อน หรือของผิดกฎหมาย ที่ต้องหลบซ่อนอยู่ใน “กลุ่มปิด” พวกรีวิวเวอร์วังก็ต้องระวังกันให้มากขึ้น

โปรโมชั่นขั้นเทพก็อีกอย่าง มีผู้ทำศัลยกรรมจำนวนมากที่ต้องพบปัญหาจากการตัดสินใจเชื่อคนผิด หรืออาจจะติดกับเกมปั่นราคา

ลองคิดดูเล่น ๆ ว่า ถ้ามีโปรทัวร์ไฟไหม้ ไปยุโรปไม่เกิน 5,000 บาท คิดว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า? อยากสวยอย่างมีคุณภาพ ก็ต้องสวยอย่างฉลาดและเท่าทัน ถือเป็นความสวยที่ครบครันของคนในยุคโซเชียลอย่างแท้จริง

© 2021 thairemark.com