“วรุณา” เปิดตัวโครงการ ปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ขั้นกว่าของการทำนาที่ช่วยลดโลกร้อน เพิ่มรายได้จากคาร์บอนเครดิต ช่วยเกษตรกร ทำนาแบบรักษ์โลก ส่งนวัตกรรมสุดล้ำทำการเพาะปลูกแบบ “ลดก๊าซเรือนกระจก ลดใช้น้ำ ลดต้นทุน” พร้อมแอปฯผู้ช่วยสุดล้ำที่ทำให้การปลูกข้าวแม่นยำยิ่งขึ้น
บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด หรือ VARUNA ผู้นำในการขับเคลื่อนคาร์บอนอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม หนึ่งหน่วยธุรกิจภายใต้ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV เดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรไทยหันมาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง โดยการนำนวัตกรรม “แอปพลิเคชันคันนา” (KANNA) ผู้ช่วยประจำแปลงเพื่อเกษตรกรไทย มาช่วยบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร โดยนำร่องจัดงานเปิดตัว “ปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง สร้างคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้” อย่างเป็นทางการ ที่ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย (นาเฮียใช้) จังหวัดสุพรรณบุรี โดยได้รับเกียรติจากนาย ณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ร่วมกับผู้บริหารบริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด และผู้แทนศูนย์วิจัยข้าว จังหวัดลพบุรี เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรไทยผู้ปลูกข้าวหันมาทำนาแบบรักษ์โลก โดยลดการใช้น้ำลงได้ 50% ลดต้นทุนการเพาะปลูก 8 – 13 % และลดก๊าซมีเทน 80%
ภายในงาน นางสาวพณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ ผู้บริหารด้านธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน โดยประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มอาเซียนที่ได้ประกาศเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนคิดเป็นอันดับที่ 19 ของโลก ทั้งนี้ ภาคเกษตรกรรมมีกิจกรรมบางส่วนที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่พบว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 50.58% ส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทน ที่เกิดจากกระบวนการทำนาที่ขังน้ำไว้ ซึ่งก๊าซมีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า และก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่เกิดจากการใส่ไนโตรเจนในปริมาณมากเกินความต้องการของพืช ดังนั้น การผลักดันให้พื้นที่เกษตรเป็นแหล่งลดก๊าซเรือนกระจก จึงเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะมีศักยภาพเชิงต้นทุนแล้ว ยังมีแนวโน้มช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาวได้ด้วย
“ภาครัฐของไทยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร 1 ล้านตัน แนวทางดังกล่าวถือเป็นอานิสงส์ให้ “บริษัท วรุณา (ประเทศไทย) จำกัด” หนึ่งหน่วยธุรกิจภายใต้ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนคาร์บอนอย่างยั่งยืนในภาคการเกษตรและสิ่งแวดล้อม จัดทำ “โครงการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง สร้างคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้” ขึ้น ผ่าน “แอปพลิเคชันคันนา” (KANNA) เพื่อช่วยบริหารจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร มีฟีเจอร์การใช้งานหลากหลาย ตั้งแต่การวางแผนการเพาะปลูกจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ข้อมูลสภาพอากาศแบบเรียลไทม์รายวันและรายชั่วโมง โรคและแมลง คาดการณ์ผลผลิต จนถึงการเก็บเกี่ยว โดยโครงการนี้ยังสนับสนุนให้เกษตรกรไทยเปลี่ยนวิธีทำนาข้าวแบบดั้งเดิม ที่หนึ่งฤดูกาลเพาะปลูกมีการใช้น้ำ 700 – 1,500 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ มาเป็นการปลูกแบบเปียกสลับแห้ง โดยการใช้ท่อ PVC ขนาด 25 เซนติเมตร เจาะรูและฝังลงในนา เพื่อวัดระดับน้ำและดูการใช้น้ำ สามารถลดการใช้น้ำลงได้ 50% ลดต้นทุนการเพาะปลูก 8 – 13% และลดก๊าซมีเทน 80%
นางสาวพณัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า คันนายังเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้เกษตรกรไทย มีความมั่นใจกับการทำการเกษตรมากขึ้น เพราะในอดีตการทำนาเป็นการพึ่งพาศาสตร์แบบดั้งเดิม พร้อมทั้งต้องคาดเดาจากสภาพดินฟ้าอากาศที่มีความไม่แน่นอน แอปฯ ดังกล่าวจึงเป็นเสมือนผู้ช่วยประจำแปลงที่คอยช่วยตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว และช่วยจัดการแปลงเกษตรแบบครบวงจร อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรรู้จักปรับตัวใช้เทคโนโลยี รวมถึงรับรู้ถึงปัญหาจากการตีความข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติได้
นอกจากนี้ ยังช่วยทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักกับการปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ช่วยลดต้นทุนการผลิต ยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย โดยในประเทศไทยเริ่มมีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนตั้งแต่ปี 2557 ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ หรือที่เรียกว่า เครดิต T-VERs (Thailand Voluntary Emission) แม้ปัจจุบันการซื้อขายเครดิต TVERs ยังมีไม่มากนัก แต่ในอนาคตจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีการคาดการณ์ความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตของไทย ตั้งแต่ปี 2563 – 2573 คาดว่าจะสูงถึงราว 1,600 ล้านตัน tCO2e โดยวรุณามีเป้าหมายในการส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้งครอบคลุม 15 จังหวัด พื้นที่ 1 ล้านไร่ภายในปี 2573