ทีเส็บเปิดแผนเพิ่มคุณค่าอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เจาะ 3 กลุ่มธุรกิจหลักโดยสอดแทรกทุนวัฒนธรรมให้เป็นจุดเด่นในระยะยาว ตั้งเป้าสิ้นปี 2567 ดึงนักเดินทางไมซ์ 23.2 ล้านคน ทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาท
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปี 2567 ของทีเส็บยึดโยงการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่ออยู่รอดและเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขัน
จากหลักดังกล่าว ทีเส็บจึงลงทุนทำวิจัยหัวข้อ MICE Foresight ว่าด้วยอนาคตของอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ทราบทิศทางที่จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนกลยุทธ์ ผลการวิจัยพบว่า การดำเนินงานของทีเส็บใน 21 ปีของการก่อตั้งประสบความสำเร็จ สามารถประมูลสิทธิ์งานไมซ์ระดับโลกได้สำเร็จกว่า 442 งาน และให้การสนับสนุนงานไมซ์ทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 6,300 งาน คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศแล้วไม่ต่ำกว่า 63,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไมซ์ 650 รายทั่วโลกยกให้ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งในใจ (Top of Mind) เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ 14 ประเทศทั่วเอเชีย ตามด้วยญี่ปุน และสิงคโปร์ โดยประเทศไทยโดดเด่นในเรื่องความคุ้มค่าของการใช้จ่าย ความมีเอกลักษณ์ ความพร้อมในการรองรับนักเดินทาง และภาพลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับในเรื่องไมซ์
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกเผชิญกับความท้าทายสำคัญ ทั้งในเรื่องการเดินทางธุรกิจจะลดลง ช่วงการเดินทางเพื่อร่วมงานไมซ์จะสั้นลง และความต้องการเปลี่ยนไป เช่น นวัตกรรมไมซ์ แหล่งประชุมใหม่ ประสบการณ์ใหม่ เป้าหมายทางธุรกิจใหม่และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ทีเส็บได้กำหนดแนวทางในอนาคตพุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นแหล่งประชุมที่ให้มูลค่าและคุณค่าสูง (High Value-Added Destination) และสร้างกลยุทธ์ใหม่ โดยผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการใช้นวัตกรรม/ความคิดสร้างสรรค์และกระชับการทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน
“แนวทางนี้จะสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นและคุณค่าให้แก่กิจกรรมไมซ์ที่จัดในประเทศไทย ซึ่งเราหวังว่าในอีกสิบปีข้างหน้า ภาพลักษณ์ไมซ์ไทยจะชัดเจนในฐานะแหล่งประชุมที่มีคุณค่าสูง เพิ่มบทบาทไทยในการกระตุ้นไมซ์ทั่วเอเซีย เป็น Springboard of ASIA’s Growth ภาคธุรกิจมีความก้าวหน้า มั่นคง”
สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเป้าหมาย Springboard of Asia’s Growth นั้น ทีเส็บจะผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยผ่าน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
- งานเทศกาลนานาชาติ (Festival) ซึ่งที่ผ่านมา ทีเส็บได้สนับสนุนงานเทศกาลกว่า 100 งาน สร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจให้ประเทศกว่า 50,000 ล้านบาท โดยทิศทางการดำเนินงานในอนาคต
ทีเส็บจะขับเคลื่อนโดยใช้ “ต้นทุน” ทางสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ หรือ Soft Power เป็นตัวสร้างมูลค่าแบบ 360 องศา ในการสร้างประสบการณ์ที่มีอัตลักษณ์ มีคุณค่า และเป็นจุดขายใหม่ ที่ขับเคลื่อนโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีมาตรการในระยะเร่งด่วน (Quick Win) ที่ต้องทำในปี 2567 คือ เร่งทำตลาดเชิงรุกในต่างประเทศ เน้นสร้างเครือข่ายผ่านการทำ Roadshow One-on-One Meeting ควบคู่กับการเปิดเวทีรับฟังความท้าทายต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การสร้างเครือข่ายและโอกาสในเวทีโลก
- การแสดงสินค้านานาชาติ จากรายงานของสมาคมการแสดงสินค้าโลก หรือ UFI พบว่า ในปี 2565 ประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และอันดับ 4 ของเอเชีย ในด้านพื้นที่การจัดงานแสดงสินค้า และในปี 2566 งานแสดงสินค้ายังเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มรายได้และจำนวนนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเข้าสู่ไทย ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 68% หรือเทียบเท่ากับรายได้ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มียอดสูงสุดก่อนการระบาดของโควิด 19 นอกจากนี้ยังมีงานแสดงสินค้าใหม่เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 25 งาน และมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต ทีเส็บจึงได้เตรียมแนวทางในการสร้างความได้เปรียบด้านแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าไทย โดยการสร้างเครื่องมือวิเคราะห์การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในตลาดที่การแข่งขันยังไม่สูงนัก (Blue Ocean) พร้อมสร้างและขยายโอกาสทางธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
- ตลาดไมซ์ในประเทศ ในปี 2566 มีนักเดินทางไมซ์ในประเทศ จำนวน 16.5 ล้านคน คิดเป็น 95% ของนักเดินทางไมซ์โดยรวมทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท และยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุม และทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ทีเส็บจึงได้เตรียมความพร้อมการพัฒนาและยกระดับพื้นที่เป้าหมาย (Destination Readiness) และการสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่า (Authentic Experience) เชื่อมโยงเมืองไมซ์ทั้ง 10 แห่ง พร้อมเปิดตัวแคมเปญ ยกทีมประชุม รุมรักเมืองไทย เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน
ในภาพรวม
โดยกำหนดเป้าหมายว่า สิ้นปีงบประมาณ 2567 ประเทศไทยจะมีนักเดินทางไมซ์ รวมทั้งสิ้น 23.2 ล้านคน ทำรายได้ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างประเทศ 9.6 แสนคน รายได้ 6.3 หมื่นล้านบาท และตลาดในประเทศ 22.2 ล้านคน รายได้ 7.3 หมื่นล้านบาท