Monday, 25 November 2024 - 11 : 57 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

PIF กองทุนอันดับ 1 ของโลก สนใจลงทุนในไทย

PIF (Governor of the Public Investment Fund) กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เพื่อลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับเศรษฐกิจของประเทศ และปฏิบัติภารกิจตามนโยบายวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030 ที่มีวัตถุประสงค์ในการกระจายการลงทุน และทำให้กองทุนฯ สามารถลงทุนในบริษัทต่างประเทศได้ และหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ที่ PIF สนใจคือการตั้งคลังน้ำมันในโครงการ “แลนด์บริดจ์” ของไทย

เเลนด์บริดจ์ (LandBridge) เป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือนํ้าลึก 2 ฝั่งทะเล คือ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ในจังหวัดชุมพร เเละ ท่าเรือนํ้าลึกฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 เเห่ง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ได้แก่ ทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร และ ทางรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์คล้ายกับ “คลองไทย” ที่ต้องการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อลดระยะเวลาการขนส่งสินค้า โดยผลการศึกษาพบว่า หากโครงการนี้แล้วเสร็จจะลดเวลาการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศที่มีเส้นทางจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม ผ่านอ่าวไทยไปอันดามัน เข้าสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ได้ประมาณ 2 วันครึ่ง เมื่อเทียบกับการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา

โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เท่านั้น แต่จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ หรือ Southern Economic Corridor : SEC ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และ นครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภาคใต้ในการเชื่อมโยงการค้าและโลจิสติกส์กับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ และภูมิภาคฝั่งทะเลอันดามัน (BIMSTEC) เป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพและการแปรรูปเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการท่องเที่ยวสู่นานาชาติ เป็นการต่อยอดประโยชน์ที่ไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและการค้าของเอเชีย โดยบูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือให้เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

จากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ จะมีการพัฒนา 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน คือ ท่าเรือน้ำลึกระนองและท่าเรือน้ำลึกชุมพร 2.การพัฒนาทางหลวงและมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร และ 3.การพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร คาดว่าใช้งบลงทุนประมาณ 1.19 ล้านล้านบาท 

ปัจจุบัน โครงการอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ เช่น นักลงทุนต่างชาติในสายการเดินเรือต่าง ๆ ผู้ประกอบการชาวไทยและชาวต่างชาติ และการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งยังดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ประเมินผลกระทบสิ่งเเวดล้อม วิเคราะห์รูปเเบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน ควบคู่ไปกับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอย่างรอบด้าน

สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการฯ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษารูปแบบโมเดลพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) และจัดทำเอกสารควบคู่กับรายงงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าการศึกษาทั้งโครงการฯจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 จากนั้นจะหาผู้รับจ้างในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ในปี 2573

แลนด์บริดจ์จึงเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ซาอุฯสนใจเข้ามาลงทุน หากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้นจริง ซาอุดีฯก็มีแผนที่จะลงทุนสร้างคลังน้ำมันและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งจะใช้เงินลงทุนมากกว่า 2 แสนล้าน ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับภูมิภาคนี้ที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ รวมไปถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ การแพทย์ โรงพยาบาล เวลเนส รองรับชาวซาอุดีฯที่มาเมืองไทยทั้งเพื่อการท่องเที่ยวและรักษาพยาบาล

             จึงไม่แปลกที่ PIF กองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จะสนใจโครงการแลนด์บริดจ์ของไทย โดยมองว่าเป็นโครงการที่ดีมีศักยภาพ และแสดงความสนใจเข้าร่วมลงทุนในการตั้งคลังน้ำมันขนาดใหญ่ โดยมี 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของซาอุดีฯร่วมลั่นกลองรบคือ Saudi Arabian Oil Company (Saudi ARAMCO) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่มีรัฐบาลซาอุดีฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบที่ใหญ่และผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Saudi Arabia Basic Industries Corporation (SABIC) บริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีบริษัท Aramco เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ นำผลพลอยได้จากน้ำมันดิบมาผลิตสินค้าปิโตรเคมี โพลีเมอร์ ปุ๋ย เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมครบวงจร รองรับโลจิสติกส์สองฝั่งทะเลอย่างแท้จริง

© 2021 thairemark.com