Sunday, 22 December 2024 - 1 : 59 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

‘อีอีซี’เปิด One Stop Service ออกใบอนุญาตลงทุนที่เดียวจบ

เป็นช่วงสุดท้ายของปี 2566 แล้ว และในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ก็ได้เดินหน้าพัฒนางานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตอบสนองกับเป้าหมายที่วางไว้ในแต่ละปี และเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในกลไกของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยล่าสุดได้กำหนด (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี พ.ศ.2566-2570 ที่มีกรอบแนวทางการพัฒนาที่สำคัญๆ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตในพื้นที่อีอีซี 2.เพิ่มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค

3.ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 4.พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย น่าอยู่อาศัย และเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5.เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยอีอีซีได้ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้เกิดมูลค่าการลงทุนโดยเฉพาะจาก 5 คลัสเตอร์หลัก ได้แก่ การแพทย์ขั้นสูง, ดิจิทัล, ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี), BCG และบริการ พร้อมเป็นต้นแบบพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบ เป้าหมายของนักลงทุนทั่วโลก ผลักดันให้คนในพื้นที่อีอีซีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เอกชนชงรัฐดันอีอีซีเต็มกำลัง

และจากการเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างก้าวกระโดด จึงทำให้โครงการอีอีซีเป็นที่สนใจของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีความหวังว่าจะมีการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้ ซึ่งล่าสุดจากการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ยังได้มีการเตรียมข้อเสนอทางเศรษฐกิจไปยังรัฐบาลชุดใหม่ 7 ข้อ ครอบคลุมในหลายๆ เรื่อง และหนึ่งในนั้นคือ ที่ประชุม กกร.เห็นควรให้รัฐบาลสนับสนุนและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีเพื่อดึงดูดการลงทุนต่อเนื่อง

โดยมีประเด็นสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนต่อเนื่อง ตามร่างแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี ระยะที่ 2 บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่ออีอีซี การจัดกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะ (2566-2570) ตาม 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริการแห่งอนาคต 2.เพิ่มประสิทธิภาพและการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค 3.ยกระดับทักษะแรงงานให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรม

4.พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยน่าอยู่อาศัยและเหมาะสมกับการประกอบอาชีพ และ 5.เชื่อมโยงประโยชน์จากการลงทุนสู่ความยั่งยืนของชุมชน โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซีให้เพียงพอต่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และเป็นการสร้างความมั่นใจในความพร้อมกับนักลงทุนต่างชาติ

แผนงานพัฒนาอีอีซี ระยะที่ 2

“นายจุฬา สุขมานพ” เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า (ร่าง) แผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี พ.ศ.2566-2570 อีอีซีได้มีการเสนอออกกฎหมายลูกรวม 44 ฉบับ เพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมไปกับการทบทวนแผนภาพรวมฯ อีอีซีในระยะที่ 1 (2561-65) โดยกรอบแนวคิดใน (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซี (2566-70) ปัจจัยสำคัญจะพิจารณาให้สอดคล้องการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายหลักรัฐบาล โดยเฉพาะโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระดับโลก

ซึ่งการปรับปรุง (ร่าง) แผนภาพรวมฯ อีอีซีใหม่นี้จะทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์ พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัย สะดวก ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 2.2 ล้านล้านบาทในระยะ 5 ปี และเกิดการกระจายรายได้ในพื้นที่เพิ่มขึ้น 34%

EEC One Stop Service

ในช่วงการก่อตั้งโครงการอีอีซีนั้นได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Services: EEC-OSS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่เข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษให้ได้รับบริการที่ทันสมัย มีความสะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยของระบบข้อมูลในการติดต่อทำธุรกรรม

EEC One Stop Service (อีอีซี วันสต็อปเซอร์วิส) เป็นศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ด้านการบริการกลุ่มนักลงทุน การบริการยื่นคำขออนุมัติ อนุญาตผ่านทางออนไลน์ และงานบริการด้านอื่นๆ การบริการนี้ช่วยอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคและต้นทุน เพื่อส่งเสริมการประกอบการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด…

การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร 1.ให้บริการแก่ผู้ประกอบการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม โดยการบริการอนุมัติ อนุญาตแก่ผู้ประกอบการ อาทิ การขออนุญาตใช้ที่ดิน การก่อสร้าง การขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร การถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน การขอนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่และทำงานในราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ (Mobile Service) ไปยังพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เพื่อต่ออายุใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) และวีซ่า (Visa) ให้แก่ช่างเทคนิคและผู้ชำนาญการต่างด้าว

2.ให้บริการแก่นักลงทุน โดยบริการให้คำปรึกษาแก่นักลงทุน (Focal Point Service) ที่สนใจลงทุนในพื้นที่อีอีซี การจัดตั้งและดำเนินธุรกิจ บริการธุรกิจ จัดหาล่าม Liaison ห้องประชุม หรือสำนักงานชั่วคราว การปรับปรุงและพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษพร้อมลงทุนข้อมูลธุรกิจในพื้นที่อีอีซี รวมถึงบริการให้คำปรึกษาด้านแรงงาน (Job Services) บริการประกาศรับสมัครงาน การจัดหลักสูตรอบรม (Training) ที่ออกแบบตามความต้องการของนักลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะให้แรงงานที่จะเข้าปฏิบัติงาน

3.ให้บริการแก่ผู้พัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยการให้บริการแก่ผู้พัฒนาเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ การยื่นขอประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม การชำระค่าบริการประกาศเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ค่าบริการเขตส่งเสริมประจำปี รายงานความก้าวหน้าการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

ความคืบหน้าการเป็น One Stop Service

ปัจจุบัน อีอีซีเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในด้านการให้บริการต่อนักลงทุนที่สนใจในพื้นที่ การยกระดับให้อีอีซีเป็นOne Stop Service ที่ดีกว่าเดิม โดยตั้งเป้าเป็นหน่วยงานที่สามารถออกใบอนุญาตต่างๆ ให้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นงานโครงสร้างพื้นฐาน หรือการตั้งโรงงาน และงานด้านพลังงาน โดยล่าสุดอยู่ระหว่างพัฒนาแผนก่อนที่จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เนื่องจากมีบางส่วนที่ กบอ.จะต้องอนุมัติเห็นชอบก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในช่วงเดือน ต.ค.นี้

นายจุฬา กล่าวว่า แผนงานดังกล่าวนั้นครอบคลุมกฎหมาย 13 ฉบับ และจะครอบคลุมการขอใบอนุญาตต่างๆ 44 ใบของเอกชนผู้ลงทุนด้วย จากเดิมที่ต้องแยกไปขอในหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค การตั้งโรงงาน เครื่องมืออุตสาหกรรม ธุรกิจกิจด้านพลังงาน รวมถึงวีซ่านักธุรกิจ 5 ปี และการดำเนินการระดับท้องถิ่น โดยอีอีซีจะเป็นส่วนกลางในการประสานงานโดยมีกฎหมายรองรับเพื่อเร่งรัดการทำงานขอใบอนุญาตต่างๆ ขณะที่ค่าธรรมเนียมที่จำเป็นต้องจ่าย อีอีซีจะเป็นผู้รวบรวมจากผู้ประกอบการและจ่ายทดแทนในส่วนนั้นๆ และคาดว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการลงทุนได้อย่างดี

“ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งตอนนี้ต้องไปคุยกับหน่วยงานปลายทางก่อน เพราะตามกฎหมายกำหนดไว้ว่าอีอีซีสามารถออกใบอนุญาตให้ได้แต่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกฎหมายอื่นๆ จึงต้องนำหลักเกณฑ์ของหน่วยงานนั้นๆ มาพิจารณา ซึ่งบางส่วนอีอีซีสามารถดำเนินการให้ได้เลยหากมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานภายใต้อีอีซีอยู่แล้ว แต่ในบางส่วนอาจจะต้องให้หน่วยงานผู้ดูแลเข้ามาช่วยพิจารณา อย่างเช่น มาตรฐานการก่อสร้าง และการออกแบบ”

ล่าสุดยังได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแจ้งขุดดินและถมดิน สำหรับการดำเนินโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน และการขออนุญาตปลูกสร้างอาคารสำหรับการดำเนินโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ซึ่งการลงนามครั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และในโครงการที่เป็นประโยชน์ตรงต่อการพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยจะอำนวยความสะดวกให้ได้รับบริการจากภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ

นายจุฬา กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการกำหนดว่าการออกใบอนุญาตแต่ละใบใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ และในแต่ละใบจะสามารถเข้ามาให้อีอีซีเป็นผู้ออกได้เลย ไม่จำเป็นต้องไปยื่นทำจากที่อื่น และมายื่นให้อีอีซีอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในการประกอบธุรกิจให้นักลงทุน หรือผู้ที่ต้องการขอใบอนุมัติ ใบอนุญาต ให้ได้รับบริการสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งแผนงานดังกล่าวนี้อีอีซีได้ตั้งเป้าหมายว่าจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 1 ม.ค.2567.

© 2021 thairemark.com