ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย ระหวังมิจฉาชีพส่ง SMS แจ้งรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลอกให้ติดตั้งแอพพลิเคชันดูดเงินผ่าน Play Store อย่ากด อย่าโหลดอย่างเด็ดขาด
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีว่า ตรวจสอบพบผู้เสียหายหลายได้รับข้อความสั้น (SMS) จากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาแจ้งว่า “คุณได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่” พร้อมกับแนบลิงก์ให้เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ ใช้ชื่อบัญชีไลน์ว่า Thaid online ซึ่งเป็นชื่อระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของกรมการปกครอง โดยได้มีการแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์แล้วเมื่อ 23 ก.ค.66 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เมื่อผู้เสียหายติดต่อไปยังไลน์ดังกล่าว มิจฉาชีพจะหลอกลวงสอบถามข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัลหรือไม่ จากนั้นจะให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ลงทะเบียนรับเงินดิจิทัล 10000 ” ผ่าน Play Store เมื่อทำการติดตั้งเสร็จสิ้น จะหลอกลวงให้ผู้เสียหายทำตามขั้นตอนต่างๆ เริ่มจากการให้ลงทะเบียนกรอกข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน อาชีพ และรายได้ เพื่อตรวจสอบสิทธิ์
ต่อมาจะให้ทำการตั้งค่าให้สิทธิการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือ หรือการให้สิทธิควบคุมโทรศัพท์มือถือที่ผู้เสียหายใช้งานอยู่ หลอกลวงให้กรอกรหัส PIN 6 หลัก ที่ผู้เสียหายใช้งานอยู่เป็นประจำ รวมไปถึงหลอกลวงให้ทำการสแกนใบหน้า หรือหลอกลวงให้โอนเงินค่าธรรมเนียมในจำนวนเล็กน้อยเพื่อนำรหัสการทำธุรกรรมธนาคารของผู้เสียหายไปใช้แล้วเข้าควบคุมโทรศัพท์ของผู้เสียหายเพื่อโอนเงินออกจากบัญชี
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 19 ส.ค.66 การหลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 9 มีจำนวนกว่า 9,460 เรื่อง หรือคิดเป็น 2.38% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 820 ล้านบาท
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าว มิจฉาชีพจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนชื่อหน่วยงานไปตามวันเวลา สถานการณ์ในช่วงนั้นๆ สร้างเรื่องมาหลอกลวงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการของรัฐ การหลอกให้อัปเดตข้อมูล หรือหลอกลวงอย่างไรให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้างนั้นๆ
พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาก็ปรากฏในหลายๆ กรณีและยังคงมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อ ได้แก่ 1.Flash Express แอปพลิเคชัน บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด แจ้งผู้เสียหายว่า พัสดุของท่านเสียหายสามารถขอยื่นเคลมค่าเสียหายได้
2.PEA Smart Plus แอปพลิเคชันการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แจ้งผู้เสียหายว่าจะได้รับเงินค่าชดเชยหม้อแปลงไฟฟ้า หรือคำนวณเงินค่า FT ผิดพลาด หรือจะได้รับเงินคืนค่าประกันไฟฟ้า
3.SmartLands แอปพลิเคชันกรมที่ดิน แจ้งผู้เสียหายว่าให้ทำการอัปเดตข้อมูลสถานะที่ดิน หรือให้ยืนยันการไม่ต้องชำระภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน สำรวจประเภทการใช้งานที่ดิน หรือชำระภาษีที่ดินไว้เกินจะคืนให้ หรือยังไม่ได้ชำระภาษี
4.Digital PENSION แอปพลิเคชันกรมบัญชีกลาง แจ้งผู้เสียหายเพื่อทำเรื่องค่ารักษาพยาบาล ทำเรื่องเงินบำเหน็จบำนาญ 5.SSO Connect แอปพลิเคชันสำนักงานประกันสังคม แจ้งผู้เสียหายให้อัปเดตข้อมูล หรือให้ชำระค่าประกันสังคม หรือจะโอนเงินค่าประกันโควิคให้ เป็นต้น โดยมักจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภ ของประชาชนเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง
ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน 11 ข้อ ดังต่อไปนี้
1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แนบมาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้เงินรางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ หรือข้อความที่ทำให้ตกใจกลัว เป็นต้น
2.ไม่กดลิงก์ หรือกดปุ่มผ่านเว็บไซต์เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นเว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ
3.หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
4.ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น โดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
5.ระวังการให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ปลอม โดย LINE Official Account จริงที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
6.การติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store จะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่จะต้องตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ ป้องกันการสร้างแอปพลิเคชันปลอมขึ้น
7.หากแอปพลิเคชันใดๆ ก็ตามมีการขออนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .Apk หรือขอสิทธิการเข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ เชื่อได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันของมิจฉาชีพแน่นอน
8.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ รวมถึงไม่โอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ตามคำบอกของผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเสี่ยงถูกนำรหัสการทำธุรกรรมธนาคารไปใช้
9.หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
10.อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบัน
11.หมั่นติดตามข่าวสารของทางการอยู่เสมอ