กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และคณะกรรมการอาหารและยา จับกุมกวาดล้างร้านขายยาที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระดมตรวจค้นร้านขายยาทั่วกรุงเทพฯ จับกุมผู้ต้องหาที่ไม่ใช่เภสัชกร 13 ราย พร้อมยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกว่า 156 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,400,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และได้รับการประสานงานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ตรวจสอบร้านขายยาที่มีพฤติการณ์ใช้พนักงานขายยาที่ไม่ใช่เภสัชกร ขายยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาแคปซูลเขียวเหลืองให้กลุ่มวัยรุ่นเพื่อเป็นส่วนผสมยาเสพติดชนิด 4×100 อีกทั้งสภาเภสัชกรรมได้เคยประชุมหารือกับ กก.4 บก.ปคบ. และได้แถลงจุดยืนเน้นย้ำให้ร้านขายยาทุกร้านจะต้องมีเภสัชกรประจำโดยจะดำเนินการกับเภสัชกรแขวนป้าย จึงเป็นที่มาในการจัดระเบียบร้านขายยาในครั้งนี้
โดยในห้วงวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 – 9 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้าตรวจสอบเครือข่ายร้านขายยาที่ทำผิดกฎหมายรายใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 14 จุด ได้แก่ 1. ร้านขายยาไทยฟาร์มาซี 5 สาขา, 2. ร้านคลินิกยา 4 สาขา, 3. ร้านพูนทรัพย์ฟาร์มาซี 2 สาขา, 4. ร้านขายยาพาดา เจริญเภสัช 2 สาขา และ 5. ร้านบ้านยาของขวัญ ตรวจยึดยาปลอม 572 ชิ้น, ยาไม่มีทะเบียน จำนวน 212 ชิ้น, ยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม 24,722 ขวด, ยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล) 4,150 แคปซูล และยาควบคุมพิเศษ จำนวน 21 กล่อง จับกุมผู้ต้องหาซึ่งไม่ใช่เภสัชกรและไม่มีความรู้ด้านเภสัชกรรม โดยผู้ต้องหา จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 3 ราย, มัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 2 ราย และปริญญาตรี จำนวน 8 ราย รวมทั้งสิ้น 13 ราย ดำเนินคดีข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต”โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับว่า รับจ้างเป็นพนักงานขายยาภายในร้านขายยาซึ่งอยู่ประจำร้านทุกวัน และจะมีเภสัชกรเข้ามาดูแลร้านเพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000-18,000 บาท
จากการสืบสวนขยายผลพบว่า ร้านขายยาดังกล่าวข้างต้นมีรูปแบบการกระทำความผิดในลักษณะที่เจ้าของผู้ดำเนินกิจการรายเดียว ยื่นขออนุญาตเปิดร้านขายยาหลายแห่ง เพื่อจะได้รับโควต้าในการซื้อยาแก้แพ้ ยาแก้ไอในปริมาณมาก ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวมีเจ้าของประกอบด้วย น.ส.อุมาพร (สงวนนามสกุล) จำนวน 8 ร้าน, น.ส.วนิดา (สงวนนามสกุล) จำนวน 3 ร้าน, นายพัทธนนท์ (สงวนนามสกุล) จำนวน 2 ร้าน และ น.ส.นวรัตน์ จำนวน 1 ร้าน โดยสถานที่ตั้งร้าน จะเลือกทำเลอยู่ในแหล่งชุมชนหรืออพาร์ทเม้นท์ ซึ่งมีกลุ่มวัยรุ่นพักอาศัยอยู่มาก ทำให้สะดวกต่อการซื้อ ซึ่งร้านขายยาในชุมชน มีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาโรคและยาได้ง่ายขึ้น แต่ปัจจุบัน บรรดาผู้ประกอบการที่คิดแสวงหากำไรอาศัยช่องว่างทางกฎหมายโดยการขายยาบางประเภทผิดจากวัตถุประสงค์ โดยมุ่งเน้นจำหน่ายเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเพื่อนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อความมึนเมาและเสพติดเป็นจำนวนมาก
กรณีผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินกิจการร้านขายยา(เจ้าของร้านขายยา) ที่ขออนุญาตเปิดร้านขายยาที่มียาปลอมและยาไม่มีทะเบียน โดยมีพฤติการณ์ขายยาแก้แพ้ แก้ไอและยาเขียวเหลืองให้กับเยาวชน เบื้องต้นมีความผิดฐาน “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดฯ, ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายยาปลอม” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะได้เสนอคณะกรรมการยาพักใช้ใบอนุญาตต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
- พระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 มาตรา 28 ฐาน “เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือแสดงด้วยวิธีใดๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีสิทธิประกอบวิชาชีพดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
สำหรับผู้รับอนุญาต
2.1 ฐาน “ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษปรับ 2,000-10,000 บาท
2.2 ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” ระวางโทษปรับ 1,000-5,000 บาท
2.3 ฐาน “ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.4 ในชั้นสอบสวน หากพบว่าเป็นยาปลอมจะมีความผิด ฐาน “ขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท
สำหรับผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ(เภสัชกร) มีความผิดฐาน “ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาทำการ รวมถึงไม่ควบคุมการขายยา ควบคุมการส่งมอบยา อันตราย และควบคุมการทำบัญชีซื้อและขายยาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท