ตำรวจเตือนภัยออนไลน์แก๊งคอลเซ็นเตอร์เบนเข็มพุ่งเป้าเหยื่อเป็นนักศึกษาหลังมุกเก่าเริ่มแปก หลอกให้นักเรียนนักศึกษาถ่ายคลิปตัวเองเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่เผยขณะนี้พบแล้ว 4 ราย
พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน 20,000 กว่าราย เดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน แต่ช่วงนี้มีกรณีที่น่าสนใจ 4 ราย ทั้ง 4 ราย รูปแบบการกระทำผิดลักษณะเดียวกัน คนร้ายใช้วิธีโทรศัพท์หาพ่อแม่แล้วส่งรูปบุตรหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้มาให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อบุตรหลานได้ ต้องโอนเงินให้ก่อนที่บุตรหลานจะติดต่อกลับมาได้ เบื้องต้นพ่อแม่คาดว่าเป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนลึกๆพบว่า เป็นคดีที่บุตรหลานถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทร.ข่มขู่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดแล้วบังคับให้ถ่ายคลิปหรือภาพถ่ายส่งให้กลุ่มคนร้ายนำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่ โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีบุตรหลานตนเองหรือเข้าบัญชีม้าแล้วหลบหนี
พล.ต.อ.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า แผนประทุษกรรมคดีนี้ กลุ่มคนร้ายใช้วิธีโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทร.เข้าโทรศัพท์มือถือผู้เสียหายหรือเหยื่อโดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษาส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อข่มขู่ให้เหยื่อตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่างๆ มีความผิดมูลฐานฟอกเงิน ทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดี โดยให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่จัดเตรียมไว้ หากนักศึกษาหรือเหยื่อไม่มีเงิน คนร้ายจะแนะนำให้ย้ายหรือออกจากห้องที่พักปัจจุบัน และให้ไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือก ผ้าเทปกาวจากร้านค้าเพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับคนร้าย
จากนั้นคนร้ายจะสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อปิดโทรศัพท์ และให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ติดต่อกับคนร้าย รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line เหยื่อผ่าน Pc-iPad ตลอดเวลา ก่อนที่จะสั่งให้ใช้ผ้าเทปและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง ถ่ายคลิปวิดีโอสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้คนร้ายทางแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ จากนั้นคนร้ายจะส่งคลิปไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครองเพื่อเรียกค่าไถ่ให้โอนเงิน มีอยู่ 2 รูปแบบ 1.พ่อแม่โอนเงินให้เหยื่อแล้วเหยื่อโอนเงินต่อให้คนร้าย และ 2.พ่อแม่โอนเงินให้คนร้าย ทั้งนี้คนร้ายได้พัฒนารูปแบบการหลอกลวงเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษา ทดแทนปริมาณเหยื่อที่ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือแผนประทุษกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม เพราะนักศึกษาพักอยู่คนเดียวห่างจากครอบครัว มีการสั่งซื้อของ หัดเริ่มลงทุนยุ่งเกี่ยวกับการพนัน ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าถึงได้ง่าย ข้อมูลที่ใช้ข่มขู่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริง ควรระวังไม่ให้เหยื่อที่อยู่หอพักตามลำพัง ควรจะมีบัดดี้อยู่ด้วย
สำหรับแนวทางป้องกันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงนั้น ให้สังเกตเบอร์ที่โทร.เข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้าให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับแล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง นอกจากต้องรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันตัวสำหรับศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องรู้เพิ่มเติม หากคนร้ายข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ ตำรวจท้องที่ หรือโทร.สายด่วน 191, 1441 และเบอร์ 08-1866-3000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ ตำรวจจะได้ให้ ความช่วยเหลือถูกวิธี ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็กลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่