Tuesday, 7 January 2025 - 7 : 56 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ราคาหมูร่วงยาว วอนรัฐหามาตรการช่วยเหลือผู้เลี้ยงด่วน หลังขาดทุนกว่า 6 เดือน

ผู้เลี้ยงหมูโอดราคาหมูตกต่ำ ซ้ำเติมเกษตรกรขาดทุนต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนแล้ว วอนรัฐหาทางแก้ปัญหารอบด้านด่วน โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตสูงจากหลายปัจจัย หวังช่วยต่อลมหายใจเกษตรกรก่อนถอดใจเลิกเลี้ยง

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเดือนร้อนอย่างหนักจากราคาหมูหน้าฟาร์มตกต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งราคาเฉลี่ยของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติของเดือนมิถุนายน 2566 ประกาศไว้ที่ 90.57 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรขายได้จริงไม่ถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายเล็กได้รับผลกระทบสูง ซึ่งหลายรายทั้งพื้นที่ภาคอีสานและภาคอื่นๆต้องเลิกเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยงจากขาดทุนสะสม

ปัจจัยที่กระทบหนักที่สุดตอนนี้ คือ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ต้นปี 2565 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันทำให้ราคาสูงขึ้นกว่า 30% และล่าสุดรัสเซียประกาศไม่รับรองความปลอดภัยเรือขนส่งสินค้าที่ไปยังท่าเรือยูเครน เริ่มมีผลให้ราคาธัญพืชและวัตถุดิบอาหารสัตว์หลักโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีเพิ่มขึ้นแล้ว 5-10% กระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยตรง ประกอบกับปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการลงทุนปัจจัยการผลิตในการปรับปรุงฟาร์มเพื่อป้องกันโรคระบาด ASF และสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงระยะยาวทำให้มีต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น เพื่อให้ผลผลิตปลอดโรคและปลอดภัยกับผู้บริโภคในระยะยาว

“ผู้เลี้ยงพยายามทุกวิถีทางในการเพิ่มผลผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ต้องลงทุนเพิ่มด้านปัจจัยการป้องกันโรคตามหลักวิชาการเพื่อความปลอดภัยของอาหาร และทยอยนำหมูเข้าเลี้ยง หลังมั่นใจว่าโรคระบาด ASF คลี่คลาย เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดกลับต้องเจอปัญหาขาดทุนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และหนักมากในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เกษตรกรในหลายพื้นที่ต้องเลิกเลี้ยง” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประกาศราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ราคาเฉลี่ยที่ 62-74 บาทต่อกิโลกรัม (ขึ้นกับพื้นที่การผลิต) ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 90.57 บาทต่อกิโลกรัม โดยก่อนหน้านี้สมาคมฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือผู้เลี้ยง โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูง และมีข้อกำหนดมาด้านภาษีนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง 2% และเงื่อนไขกำหนดอัตราส่วนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ : ข้าวสาลี ในอัตรา 3 : 1 ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญและเป็นต้นทุนแฝงของอาหารสัตว์ ทั้งที่วัตถุดิบทั้ง 2 ชนิด ประเทศไทยผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการ

นายสิทธิพันธ์ กล่าวว่า ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มของไทยจากที่เคยมีราคาสูงสุดในภูมิภาคอาเซียนเมื่อปี 2565 แต่ปีนี้ราคากลับตาลปัตรมาเป็นต่ำสุดแล้วในปัจจุบัน เทียบราคาเฉลี่ยต่อกิโลกรัม (ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2566) ของเวียดนามที่ 88-90 บาท กัมพูชา 80 บาท ลาว 88 บาท พม่า 110 บาท มาเลเซีย 126 บาท ฟิลิปปินส์ 104 บาท ผลผลิตขายเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านที่ราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ยังพอมีกำไรเล็กน้อยให้ผู้เลี้ยงหมูไทยได้ต่อทุนเลี้ยงรอบใหม่ เมื่อผลผลิตรอบใหม่ออกสู่ตลาดจำนวนมากประจวบกับ “หมูเถื่อน” ยังคงมีกระจายทั่วประเทศช่วงครึ่งปีแรก 2566 ทำให้ราคาหมูลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงอยากให้รัฐบาลผลักดันการส่งออกหมูเพิ่มขึ้นเพื่อลดซัพพลายในประเทศ และปราบปรามหมูเถื่อนให้สิ้นซาก

“หากรัฐบาลปล่อยให้ราคาหมูในประเทศตกต่ำต่อไปแบบไม่มีอนาคตเช่นนี้ ผู้เลี้ยงหมูไทยคงต้องทยอยเลิกอาชีพไปเพราะทนรับภาระขาดทุนสะสมไม่ไหว เมื่อถึงเวลานั้นจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของคนไทยและประเทศไทยแน่นอน” นายสิทธิพันธ์ กล่าวย้ำ

© 2021 thairemark.com