ภายหลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ชนะในการเลือกตั้งประจำปี 2566 ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. กรณีถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จํากัด (มหาชน) พร้อมถูกสว. งัดปิดทางโหวตพิธาเป็นนายกฯ อีกรอบขัดกับข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ซึ่งก่อนหน้าที่จะเดินออกจากห้องประชุม ได้กล่าวอำลา
พร้อมทิ้งท้ายว่า “ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม และถ้าประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทางถึงแม้ผมไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนดูแลประชาชนต่อไป” จากนั้นชูกำปั้น ยกขึ้นเหนือศรีษะ ” Raised Fist”นัยต่อต้านเผด็จการและการกดขี่ รวมถึงมายถึงความรวมใจกันเป็นหนึ่ง
การชูกำปั้น ยกขึ้นเหนือศรีษะ เรียกว่า Raised Fist ไม่ใช่เพียงการทำเท่ ท่าเก๋ หรือท่าถ่ายรูปเท่านั้น แต่เป็นสัญญะทางการเมืองในการต่อต้านเผด็จการสากล โดยการชูกำปั้น “Raised fist” เป็นการแสดงออกอย่างสันติวิธี เป็นภาพสะท้อนความหมายที่หลากหลายที่มีมาช้านาน มักจะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ทั่วไปของการต่อต้านระบอบกดขี่, ลัทธิฟาสซิสต์, ลัทธิสังคมนิยม, ลัทธิคอมมิวนิสต์, และขบวนการทางสังคมที่ปฏิวัติอื่น ๆ รวมถึงสามารถใช้แทนคำทักทายเพื่อแสดงความสามัคคี ความแข็งแกร่ง หรือการต่อต้าน
ต้นกำเนิดของการชูกำปั้นเป็นสัญลักษณ์หรือท่าทางนั้นไม่ชัดเจน แต่ภาพแรกเริ่มของการยกกำปั้นขึ้นเป็นภาพโดย “ออนอเร ดูมิเยร์” และน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติในปี 1848 ที่เห็นการล้มล้างระบอบกษัตริย์ของ King Louis-Philippe Daumier ซึ่งอยู่ในปารีสในช่วงเวลาที่เรียกว่า “วันนองเลือดในเดือนมิถุนายน” รู้สึกประทับใจกับความปรารถนาอันแรงกล้าของผู้คนและใช้กำปั้นที่ชูขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของ “ความแข็งแกร่ง ความมุ่งมั่น และความตั้งใจที่จะต่อสู้”
แต่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในปี 2511 นักกรีฑาอเมริกัน ชื่อ “ทอมมี่ ซี. สมิธ และ จอห์น เวสลีย์ คาร์ลอส” ได้กล่าวคำสดุดีอันโด่งดังจากโพเดียมโอลิมปิกที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งชูกำปั้นสุดแขนตอนขึ้นรับเหรียญ ขณะกำลังเปิดเพลงชาติ ประท้วงการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการเหยียดผิว ที่เรียกว่า Black Power salute
รวมถึงในปีเดียวกัน ขบวนการสตรีนิยมได้ใช้กำปั้นในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ “โรบิน มอร์แกน” หัวหน้าผู้จัดงานและผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวรวมตัวกัน เพื่อประณามการที่ผู้หญิงมองผู้หญิงเป็นนางแบบบิกินีในการแข่งขันมิสอเมริกา
มีการชูกำปั้นขึ้นเพื่อประท้วงเรื่อง Black Lives Matter หลังมีการเสียชีวิตอย่างน่าสยดสยองของจอร์จ ฟลอยด์, เอริก การ์เนอร์, ฟิลันโด คาสตีล รวมถึงชายและหญิงผิวสีอีกนับไม่ถ้วนด้วยน้ำมือของตำรวจผิวขาว นักเคลื่อนไหวชาวซานดิเอโกกล่าว “กำปั้นเชิงสัญลักษณ์นั้นทำให้ฉันเห็นความอยุติธรรมในประเทศของเราจริงๆ”