การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) จัดกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม กฟผ. โดยมี พระครูสุจิณนันทกิจ (พระอาจารย์สมคิด จารณธัมโม) เจ้าคณะอำเภอสันติสุขและในฐานะประธานมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) เป็นประธานการเปิดกิจกรรมปลูกป่า ซึ่งมีนายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม และ นางสาวเกษณภา มหารัตนวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม เป็นผู้แทน กฟผ. พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของจังหวัดน่าน อาทิ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน ภาคส่วนราชการในพื้นที่อำเภอสันติสุข พร้อมด้วยคณะภิกษุสงฆ์ สามเณร และนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าไผ่ซางหม่น ณ มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน
นายสมศักย์ ปรางทอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการปลูกป่าแบบมีส่วนร่วมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ กฟผ.ได้ให้การสนับสนุนการจัดสร้างโรงเรือนเพาะชำพร้อมระบบน้ำ อ่างเก็บน้ำ และได้สนับสนุนกล้าไผ่ซางหม่น จำนวน 280 ต้น และกล้าไผ่ซางหม่น ที่ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา หรือเห็ดตับเต่า จำนวน 240 ต้น ให้กับมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) เพื่อปลูกในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ โดยคาดหวังให้เป็นพื้นที่นำร่องและต้นแบบ รวมทั้งเป็นศูนย์เพาะพันธุ์กล้าไผ่ซางหม่นอีกแห่งในจังหวัดน่าน ซึ่งจะเสริมสร้างจิตสำนึกให้เยาวชนได้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในสถานศึกษา ช่วยลดมลภาวะอากาศเป็นพิษจากปัญหาฝุ่นควัน และลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
โดย กฟผ. มีนโยบาย EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2050 หรือ ปี พ.ศ.2593 มุ่งสู่พลังงานสะอาด และ Thailand Carbon Neutrality ตามกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สร้างความยั่งยืน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน สอดคล้องกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ รวมถึงการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีมากที่สุดในบรรยากาศ โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมมีเป้าหมาย 1 ล้านไร่ รวมงานดูแลบำรุงรักษาระหว่างปี 2565 – 2574 รวมระยะเวลา 10 ปี โดยวางหลักการปลูกป่าร่วมกับพันธมิตร ปลูกป่าดูดซับคาร์บอนสูง ปลูกป่าในใจ และปลูกป่าเป็นยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ ดำเนินงานทั้งในป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ และป่าชายเลน ซึ่งจะสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการปลูกป่าเพื่อดูดซับ และกักเก็บคาร์บอน มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี และคาดว่าจะสามารถก่อให้เกิดการดูดซับกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ทั้งสิ้นประมาณ 23.6 ล้านตัน ตลอดระยะเวลาโครงการ
ทางด้านพระครูสุจิณนันทกิจ เจ้าคณะอำเภอสันติสุขและประธานมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) กล่าววว่า มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับ กฟผ. เพื่อบูรณาการปลูกป่าร่วมกัน มาตั้งแต่ปี 2565 โดย กฟผ.ได้จัดสร้าง โรงเรือนเพาะกล้าไม้ จำนวน 1 โรงเรือน พร้อมติดตั้งระบบน้ำ สำหรับกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภายใต้โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม จะได้ขยายผลต่อไปยังวัดในเครือข่าย จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ วัดต้นผึ้งสามัคคีธรรม และ โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา ตำบลดู่พงษ์ วัดศรีบุญเรือง และ วัดพงษ์ ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เพื่อขยายพื้นที่การปลูกไผ่ซางหม่นและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในอำเภอสันติสุข โดยเฉพาะกล้าไผ่ซางหม่น ที่ใส่เชื้อเห็ดตับเต่า จะสามารถเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
โดย…ระรินธร เพ็ชรเจริญ รายงาน