เปิดหนังสือร้องเรียน “องค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่” ยก 5 ประเด็นยื่นกระทรวงยุติธรรม ร้องขอความเป็นธรรม ให้ตรวจสอบการทำงานของ “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” (สคบ.) กรณีอ้างว่ากลุ่มผู้เสียหายไม่ใช่ผู้บริโภค จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาใดๆ โดยขอหารือแนวทางออกในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหากับกระทรวงยุติธรรม ในฐานะองค์กรผู้ที่มีบทบาทการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน
ทั้งนี้การขอหารือดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจาก น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ ผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ และหัวหน้าพรรคมะลิ ร่วมกับผู้เสียหายจากการสมัครเป็นสมาชิกในบริษัทเครือข่ายขายตรง ได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์กับ สคบ. ให้ตรวจสอบ บริษัท ทรูเฟรนด์ 2020 จำกัด และกลุ่มบริษัท ไอริช อินเตอร์เนชั่นแนล 2018 จำกัด ซึ่งได้ก่อความเสียหายกับกลุ่มสมาชิกผู้ร้องเรียน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนตามที่ได้โฆษณาไว้ แต่เรื่องดังกล่าวกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จาก สคบ.
สำหรับหนังสือที่ยื่นร้องเรียนต่อกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า บริษัทดังกล่าว ได้กระทำการที่มีลักษณะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง และความผิดอาญาดังต่อไปนี้คือ ความผิดตาม พ.ร.บ.ขายตรงฯ 1.เนื่องจากการดำเนินการของบริษัทไม่ถูกต้องเป็นไปตามแผนการจ่ายผลตอบแทนตามที่ได้รับความเห็นจากนายทะเบียน 2.เนื่องจากมีการกระทำความผิดมาก่อนหน้าการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรง, ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์3.เนื่องจากมีการ.กระทำการโฆษณาชักชวนในช่องทางต่างๆผ่านสื่อโซเซียล, ความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยื่มเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน 4.เนื่องจากมีการชักชวนระดมทุนจากประชาชนให้ลงทุน โดยการันตีว่าจะได้รับเงินปันผลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด, ความผิดตามกฎหมายอาญา 5.เนื่องจากกระทำการฉ้อโกงประชาชน
โดยหนังสือให้ตรวจสอบการทำงานของ สคบ.นั้น ได้ยื่นต่อกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องตามวิถีทางการเมือง ที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องถึง คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐมาก่อนหน้าแล้ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่าการยื่นเรื่องร้องทุกข์กับหน่วยงานรัฐ ได้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลากว่า 180 วัน แต่ก็ยังไม่ดำเนินการใดๆ แม้แต่การเยียวยาผู้เสียหายให้เป็นที่ประจักษ์ ผู้เสียหายส่วนใหญ่ได้รับความลำบากเป็นอย่างมาก
ที่สำคัญในการเคลื่อนไหวยื่นเรื่องถึง 2 องค์กรในครั้งนี้ น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ กล่าวว่า ก็เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในเรื่องที่ได้ดำเนินการมา เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน โดยขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ สคบ.ในอำนาจการดูแลช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคที่สมัครเป็นผู้จำหน่ายอิสระของบริษัทดังกล่าวอย่างเป็นธรรมแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังได้ขอโอกาสปรึกษาหารือกับกระทรวงยุติธรรมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวของประชาชนผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่อาจตกเป็นผู้เสียหายในอนาคต ให้ได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมอย่างทันท่วงที