Wednesday, 15 January 2025 - 5 : 37 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ขายตรงอีแอบสะเทือน !!! รัฐทำหูหนวกตาบอดมีหนาว

วงการธุรกิจเครือข่ายขายตรงเมืองไทยร้อนฉ่าขึ้นมาทันที เมื่อการแก้ไขปัญหาธุรกิจขายตรงแอบแฝงถูกขับเคลื่อนด้วยวิถีทางการเมือง ภายใต้การนำของ “พรรคมะลิ” (เดิม พรรคภาคีเครือข่ายไทย) ซึ่งเป็นกลุ่มคณะบุคคลผู้ก่อตั้ง “องค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่” โดยมีหัวเรือใหญ่ คือ “น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์” หัวหน้าพรรคและผู้ก่อตั้งองค์กรดังกล่าว นำขบวนทัพกลุ่มผู้เสียหายเคลื่อนไหวไล่ล่าองค์กรเครือข่ายหรือบริษัทที่สร้างความเสียหายให้กับวงการธุรกิจเครือข่ายขายตรง

ด้วยการยกระดับขึ้นไปร้องเรียนองค์กรทางการเมือง หลังจากการร้องเรียนและดำเนินการผ่านทางหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกลับไม่ได้รับการตอบสนองจากบ้างหน่วยงาน การยื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง “คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร” และร้องเรียน “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” จึงสามารถสร้างกระแสความร้อนแรงให้มีการตื่นตัวในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความอัปยศอดสูที่เกิดขึ้นซ้ำซากในวงการขึ้นมาได้บ้าง

ที่สำคัญการร้องเรียนของ องค์กรและกลุ่มผู้เสียหายดังกล่าวในครั้งนี้ ทำให้ “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค” (สคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดในฐานะนายทะเบียนผู้กำกับดูแลธุรกิจขายตรงโดยตรง ถึงกับออกอาการจุกอกสะเทือนซางกันเลยทีเดียว เพราะการร้องเรียนครั้งนี้ เป็นการร้องเรียนให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการทำงานของ สคบ.ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงในประเด็นที่ว่า “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” (มาตรา 157)  ถึงแม้ว่า สคบ.จะออกข่าวชี้แจ้งว่า หน่วยงานไม่มีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากผู้ร้องเรียนมีลักษณะการร่วมลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนจากบริษัท ไม่ใช่กรณีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ “จึงไม่ถือว่าเป็นผู้บริโภค”

ขณะที่ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ก็ตอบสนองการเคลื่อนไหวของคณะกลุ่มผู้เสียหายอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยแถลงข่าวจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ สคบ., กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาชี้แจ้งและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน  พร้อมทั้งจะลงพื้นที่ไปสถานีตำรวจที่ผู้เสียหายได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษในกรณีดังกล่าวแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ไม่เพียงเท่านั้นทางด้านกระทรวงยุติธรรมก็ตอบรับในการดำเนินการเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในอำนาจการดูแลช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคที่สมัครเข้าร่วมธุรกิจของบริษัทขายตรง และเพื่อการป้องกันการตกเป็นผู้เสียหายในวงการนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

จากการเคลื่อนไหวขององค์กรและกลุ่มผู้เสียหายจากธุรกิจขายตรงครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าจับตากันดูต่อไปยิ่งนัก ธุรกิจเครือข่ายขายตรงที่กระทำผิดกฎ โดยเฉพาะธุรกิจแอบแฝงหรือพวกอีแอบจะต้องได้รับแรงสั่นสะเทือนในการเคลื่อนไหวนี้แน่นอน รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหากทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่หรือทำเป็นพวกหูหนวกตาบอดจะต้องหนาวๆร้อนๆหรืออาจจะถึงขั้นสะท้านทรวงขึ้นมาแน่

ย้อนไปถึงเหตุแห่งการเคลื่อนไหวไล่ล่าธุรกิจขายตรงแอบแฝง เกิดขึ้น เมื่อเดือน สิงหาคม 2563 กลุ่มคนตาบอดและผู้เสียหายได้ร้องทุกข์กับ “พรรคภาคีเครือข่ายไทย”(เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “พรรคมะลิ”)ว่า ถูกบริษัททรูเฟรนด์ 2020 จำกัด ที่เพิ่งได้ รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรง (ใบ สคบ.) หลอกให้ลงทุนแต่ไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่ประกาศไว้  น.ส.กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าพรรคภาคีเครือข่ายไทย ในนามผู้ก่อตั้งองค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ จึงนำผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เมื่อเดือนกันยายน 2563 จี้ให้ทำการตรวจสอบและชี้แจงการดำเนินการของ บริษัททรูเฟรนด์ 2020 ว่าการดำเนินกิจการเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ทั้งในเรื่องแผนการจ่ายผลตอบแทนและสินค้า และยังได้ระบุว่า บริษัทดังกล่าวได้ดำเนินธุรกิจก่อนได้รับใบอนุญาต และเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก็ไม่สามารถทำการจ่ายผลตอบแทนได้ตามที่บริษัทประกาศไว้

หลังจากนั้นในเดือนเดียวกัน กันยายน 2563 ก็นำกลุ่มผู้เสียหาย“ธุรกิจข้าวกอระ” เข้าร้องทุกข์กับ สคบ.อีกกลุ่ม พร้อมทั้งเข้าร้องทุกข์กับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) เพื่อให้ดำเนินคดีในข้อหาหลอกชักชวนระดมทุนซื้อข้าวกอระ ตั้งผลประโยชน์ล่อใจจ่ายเงินปันผล แต่กลับเบี้ยวไม่จ่าย ประเมินความเสียหายหลายพันล้านบาท และเข้าร้องทุกข์กับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในเดือนถัดมา ตุลาคม 2563 ขณะเดียวกันกลุ่มผู้เสียหายก็ได้ทำการแจ้งความต่อตำรวจในท้องที่ของตนเอง (ปัจจุบันร่วม 70 สถานี) ในหลายจังหวัด

จากการเข้าร้องทุกข์กับ DSI ทำให้ ธุรกิจข้าวกอระ เปิดฉากปฏิบัติการดับกระแสข้อกล่าวหา จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างทันควันในเดือนเดียวกัน ยืดอกรับผิดชี้แจ้งปัญหาการจ่ายเงินล่าช้าที่เกิดขึ้น พร้อมเดินหน้าแก้ไขปัญหา การันตีกรณีสมาชิกจะขอรับเงินคืน ภายใน 4 เดือนได้แน่ โดย “น.ส.กรชวัล สมภัคดี” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กอระ เอ็นเตอร์ไพร์ซ จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า บริษัทฯไม่เคยมีการเชิญชวนบุคคลมาสมัครสมาชิก หรือมาร่วมลงทุนหรือระดมทุนหรือดำเนินธุรกิจใดๆในลักษณะดังกล่าว บริษัท กอระฯ เป็นเพียงบริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตร นวัตกรรม เกษตรแปรรูป ข้าวหอมมะลิและกระเช้าของฝากจากชาวนาไทย เท่านั้น

ส่วนบริษัท ไอริช อินเตอร์เนชั่นแนล 2018 จำกัด เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจเครือข่าย MLM หรือดำเนินธุรกิจรูปแบบเครือข่ายผู้บริโภค มีแผนการจ่ายเงินโบนัสเป็นค่าตอบแทนระบบธรรมดา แต่ที่เกิดปัญหาเป็นเพราะมีบุคคลอื่นมาอ้างอิงแผนและทำให้สมาชิกเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นนโยบายของบริษัท แต่ก็ยอมรับว่าในการดำเนินธุรกิจเครือข่ายไอริชฯ ที่ผ่านมาเกิดข้อผิดพลาดที่ส่งผลกระทบต่อสมาชิก จากการใช้ระบบแต้มคะแนนสะสมแทนระบบกระแสเงินสดในการจ่ายโบนัส ซึ่งบริษัทฯพร้อมน้อมรับข้อผิดพลาดและเร่งแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตามจนถึงวันนี้เวลาผ่านมากว่า 4 เดือนแล้ว กลุ่มผู้เสียหายที่เคลื่อนไหวร้องเรียนกรณีดังกล่าว ก็ไม่ได้รับการเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น เว้นแต่ผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการให้จนถึงขั้นตอนจะออกหมายจับถึงได้รับเคลียร์เงินที่ลงทุนคืน (อาจจะเต็มจำนวนหรือไม่เต็มจำนวนไม่ทราบชัด) ซึ่งเป็นส่วนที่น้อยมาก ชนิดที่เรียกได้ว่า ธุรกิจข้าวกอระไม่มีความจริงใจในการที่จะเคลียร์ปัญหาอย่างแท้จริง ผนวกกับ สคบ.ได้ทำหนังสือตอบกลับมายัง องค์การต่อต้านแชร์ลูกโซ่ โดยแจ้งว่า “ สคบ.ไม่มีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากผู้ร้องเรียนมีลักษณะการร่วมลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนจากบริษัท ไม่ใช่กรณีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ “จึงไม่ถือว่าเป็นผู้บริโภค” ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ด้วยเหตุที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากบริษัทคู่กรณีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่มีแม้แต่จะออกมาช่วยเคลียร์ปัญหา การแสวงหาช่องทางในการแก้ไขปัญหานี้และปัญหาคาราคาซังที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พรรคมะลิหรือองค์กรต่อต้านแชร์ลูกโซ่ จึงได้งัดเอาวิถีทางทางการเมืองมาใช้ ยกทัพนำขบวนกลุ่มผู้เสียหายยกระดับการเคลื่อนไหวขึ้นไปอีก ด้วยการร้องเรียนองค์กรทางการเมือง ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง “คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร” และร้องเรียน “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาตามลำดับ

© 2021 thairemark.com