Sunday, 22 December 2024 - 1 : 41 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

“ศ.ดร.สุชัชวีร์”ปธ.คณะทำงานนโยบาย กทม.ประกาศสงครามฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งปณิธานผลักดันคลอด “กฎหมายอากาศสะอาด”ปกป้องคนกรุง

ทำไม “กฎหมายอากาศสะอาด” ถึงเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน ?

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (หรือ ดร.เอ้) นักวิศวกร นักวิชาการ และนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตนายกสภาวิศวกร สมัยที่7 อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ก่อนเปิดตัวเข้าร่วมและลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะทำงานนโยบาย กทม.พร้อมประกาศสุดจะทนกับปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5

โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่วัดค่า PM 2.5 ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นำทีมโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. , นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตหลักสี่ – จตุจักร ผู้การแต้ม พล.ต.ต วิชัย สังข์ประไพ ได้เข้าตรวจ PM2.5 ที่บริเวณศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นจุดที่มีการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะในช่วงเช้าที่มีการสัญจรไปมา รวมถึงมีการก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียง โดยทีมเข้าตรวจวัดฝุ่นpm 2.5 เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้น มันอันตรายกว่า โควิด 19 ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ หากแต่ภัยจาก PM2.5 สามารถซึมเข้าไปในร่างกายได้อย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายอาจทำให้เกิดภาวะสมองตายได้

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. ซึ่งมองเห็นว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ จึงพร้อมนำเสนอให้มี กฎหมายอากาศสะอาด เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า 15 จังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกิน 3 วัน ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ รวม ถึงในกทม.ทั้ง 50 เขต ตั้งแต่ต้นปีมีผู้ป่วยเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ 1.32 ล้านคน สัปดาห์นี้ป่วยอีก 1.96 แสนคน โดยเน้นย้ำว่ากลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งช่วงที่มีฝุ่นสูง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก โดยช่วงที่มีค่ามีฝุ่นสูง ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 5 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย โดยกลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ โรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง ถึง 208,880 ราย

จึงเป็นที่มา ที่เราอยากรณรงค์ให้เกิด “กฎหมายอากาศสะอาด” จะช่วยให้หน่วยงานที่ดูแลและแก้ไขปัญหา PM 2.5 มีอำนาจในการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของ PM 2.5 ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ มักจะแก้ปัญหาอย่างเฉพาะหน้า สาเหตุหนึ่งมาจากการไม่มีกฎหมายมารองรับ และสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้ไม่สามารถควบคุมและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากแหล่งกำเนิดได้ เลยต้องไปแก้ไขที่ปลายเหตุ สุดท้ายปัญหาคงก็อยู่

ถ้าศึกษาจากตัวอย่างของต่างประเทศที่เขาเคยเจอมาหนักมากกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา หรือจีนพวกเขายังสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ด้วยการนำ “กฎหมายอากาศสะอาด” มาบังคับใช้ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเคยเจอวิกฤติหมอกอย่างหนักในปี 1952 แต่ก็สามารถเอาชนะปัญหามาได้ด้วยการออกกฎหมายอากาศสะอาด “Clean Air Act ในปี 1956” ควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างจริงจัง และมีการวิจัยมาแล้วว่าหลังกฎหมายออกมาสามารถลดปัญหามลพิษได้จริง สามารถเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม พิสูจน์แล้วว่าวันนี้กรุงลอนดอนอากาศสะอาดมากแค่ไหน อเมริกาในสมัยประธานาธิบดีนิกสันได้ออกกฎหมายอากาศสะอาด “Clean Air Act of 1970” หรือ CAA ทำให้อเมริกากลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จระดับโลกในการจัดการมลพิษทางอากาศ

ล่าสุดประเทศยักษ์ใหญ่ในด้านอุตสาหกรรมอย่างจีนที่กรุงปักกิ่งเคยเจอปัญหามลภาวะอยากหนักมาก่อน จนรัฐบาลจีนต้องออก “กฎหมายป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศ” มีแผนปฏิบัติการเมืองปักกิ่งเพื่ออากาศสะอาด ออกมาตรการระดับชาติ 10 ประการ จนวันนี้ปักกิ่งกลับมาอากาศสะอาดกว่ากรุงเทพ

แต่วันนี้ประเทศไทยยังไม่มี “กฎหมายอากาศสะอาด” เพื่อคุ้มครองให้คนในชาติได้สูดอากาศบริสุทธิ์แม้แต่ฉบับเดียว ที่ผ่านมาแม้จะมีการผลักดัน “กฎหมายอากาศสะอาด” จากหลายภาคส่วน แต่ก็ยังถูกละเลย ไม่มีการนำมาประกาศบังคับใช้ บางคนอาจมองว่า “กฎหมายอากาศสะอาด” ซ้ำซ้อน เพราะกฎหมายสิ่งแวดล้อมเดิมก็มีอยู่ แต่ที่ผ่านมาก็พิสูจน์มาแล้วว่าถ้ากฎหมายสิ่งแวดล้อมเดิมใช้ได้จริงพวกเราชาวกรุงเทพคงไม่ต้องมาทนกับปัญหานี้ในปัจจุบัน

“กฎหมายอากาศสะอาด” ที่ออกมาจะช่วยเป็น “เครื่องมือ” ให้หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาตรการและข้อบังคับไปควบคุมสาเหตุของ PM 2.5 ได้ถึงต้นตอ ไม่ว่าจะเป็น

  • การกำหนดเขตพื้นที่มลพิษต่ำ ใจกลางเมือง
  • การควบคุมรถควันดำ ต้นตอสำคัญของ PM 2.5
  • การจัดเก็บภาษีการปล่อยมลพิษยิ่งปล่อยมากยิ่งจ่ายมาก เพื่อเป็นการบังคับให้หาทางลดการปล่อยมลพิษ
  • การลดภาษีพื้นที่สีเขียวเป็นรางวัลให้คนทำดี
    ทั้งหมดนี้เป็นทางรอดเพื่อให้พวกเราชาวกรุงเทพได้กลับมาสูดอากาศบริสุทธิ์กันทุกคนครับ” ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นอกจากจะนำเสนอ กฎหมายอากาศสะอาด แล้ว ยังตั้งทีมเพื่อวัดค่าฝุ่น PM2.5อย่างต่อเนื่อง เพื่อประกาศสงครามกับปัญหามลพิษทางอากาศ PM 2.5 พร้อมนำเสนอแนวทางการป้องกันและแก้ไขเบื้องต้นให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆต่อไป

© 2021 thairemark.com