เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม อาจมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับปศุสัตว์ชนิดอื่นๆ ดังข้อมูลในปี 2564 ที่มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ จำนวน 24,255 ราย มีจำนวนประชากรโคนมทั้งสั้น 806,441 ตัว เฉลี่ย 33.25 ตัว/ฟาร์ม กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา ลพบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ และขอนแก่น แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมก็มีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประเทศ และเติมเต็มสารอาหารทั้งโปรตีนและแคลเซี่ยม ช่วยลดภาวะทุพโภชนาการให้แก่เด็กไทยทั่วประเทศใน “โครงการนมโรงเรียน” มายาวนานกว่า 20 ปี
การมีจำนวนเกษตรกรน้อย อาจไม่มีปากเสียงส่งถึงผู้บริหารบ้านเมืองได้มากนัก ซึ่งนับว่าน่าเห็นใจ เพราะวันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกำลังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากอาหารโคที่ได้รับผลกระทบในเรื่องวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีราคาสูงขึ้นจากผลพวงของภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาโลกร้อน เช่นเดียวกับเกษตรกรภาคปศุสัตว์อื่นๆต้องพบเจอ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบสูงขึ้น แต่กลับไม่สามารถขายน้ำนมดิบได้ในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน เพราะ “นม” เป็นสินค้าควบคุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ที่ถูกคุมราคาตั้งแต่ราคานมดิบไปจนถึงราคานมกล่อง
สิ่งนี้เป็นต้นเหตุให้ เกษตรกรรายย่อย หรือกลุ่มที่มีจำนวนแม่โครีดนมไม่เกิน 20 ตัว ต้องตัดสินใจเลิกเลี้ยงโคนมไปแล้วบางส่วน จากต้นทุนการผลิตที่ 19.13 บาท/กก. แต่ขายได้เพียง 19.00 บาท/กก. ทำให้เกิดขาดทุนสะสมทุกวัน เกษตรกรจึงจำใจต้องขายโคนมขายออกจากฟาร์ม หลังไปต่อไม่ไหวกับการแบกภาระค่าอาหารโคที่คิดเป็น 60-65% ของต้นทุนทั้งหมด และต้นทุนการผลิตอื่นๆ เช่นค่ายาป้องกันและรักษาโรค ปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่สูงขึ้นจากเดิมมากกว่า 30%
จริงอยู่ว่ารัฐมี “คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือ มิลค์บอร์ด” ช่วยสนับสนุนเกษตรกรและอุตสาหกรรม มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย โดยมีเป้าประสงค์จะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโค ผลักดันการเพิ่มผลผลิตน้ำนม ตลอดจนเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์นมและเพิ่มอัตราการบริโภคนมภายในประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี ที่จะส่งเสริมให้ทั้งเกษตรกรและอุตสาหกรรมนมเติบโตต่อไปได้ หากแต่เมื่อมีปัจจัยแวดล้อมเข้ามากระทบ กระทั่งทำให้เกษตรกรออกจากระบบการเลี้ยงเช่นนี้ แผนดังกล่าวก็ควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และบรรลุเป้าหมายตามที่มิลค์บอร์ดต้องการ ในที่นี้หมายรวมถึง การประสานความร่วมมือกับ “กระทรวงพาณิชย์” เพื่อเปิดปลายท่อทางออกให้อุตสาหกรรมนมสามารถขายนมได้ตามการขึ้น-ลงของน้ำนมดิบไปด้วย ก็จะช่วยให้สามารถจ่ายค่าน้ำนมดิบแก่เกษตรกรได้ตามราคาตลาด สอดคล้องกันไปตลอดห่วงโซ่อุปทาน
มิลค์บอร์ดและกระทรวงพาณิชย์ ควรร่วมกันทบทวนการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อเร่งช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงโคนมเป็นการเร่งด่วน ด้วยภาวะสงครามยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูง เกษตรกรจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาในทางใดทางหนึ่งทันที อาทิ การปล่อยราคาน้ำนมดิบให้เป็นไปตามอุปสงค์-อุปทาน หรือการเร่งส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรสามารถผลิตน้ำนมดิบได้เพิ่มขึ้น การผลักดันให้เกษตรกรสามารถผลิตน้ำนมดิบของไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมนมต่างประเทศ จะด้วยการสนับสนุนให้ความรู้หรือการส่งเสริมให้นำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีการเลี้ยงใหม่ๆเข้ามา เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การหาแหล่งสินเชื่อหรือเงินทุนหมุนเวียนหรือแม้แต่การหาตลาดรองรับให้กว้างขึ้น ล้วนเป็นสิ่งจำเป็น โดยควรดำเนินการให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต จึงจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องความเป็นจริง และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน./
โดย… กษิรา คาวีกูล