สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติส่งสัญญาณเตือนว่าขณะนี้ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนกลับมาเฟื่องฟู พร้อมเรียกร้องรัฐให้ลุกตื่นมาแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมู ซึ่งนอกจากจะเข้ามาแย่งตลาดผู้เลี้ยงหมูไทย จนทำให้เกิดความเสียหายหนักทั้งระบบแล้ว หากปล่อยให้ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเฟื่องฟู ยังอาจจะทำให้เกิดโรคระบาดในสุกรเพิ่มอีก โดยเฉพาะ ASF ที่เริ่มคลี่คลายนั้น มีโอกาสจะกลับมาระบาดซ้ำ จนทำให้อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูต้องล้มทั้งยืน
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แถลงว่า สมาคมพบว่าขณะนี้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อและชิ้นส่วนหมูเข้ามาจำหน่ายในประเทศกันอย่างเปิดเผย ซึ่งเราก็วางใจที่กรมปศุสัตว์ออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับได้ยังคงเป็นส่วนน้อย จึงต้องมาจัดการแถลงให้ชัดเจนเลยว่าเราจะสามารถร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง เพราะปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่เสียหายจากปัญหาโรคระบาดโดยเฉพาะ ASF เริ่มกลับมาเข้าขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้จะปล่อย ให้มีการลักลอบแบบนี้ต่อไปไม่ได้
“ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่มีราคาต่ำมาจำหน่ายในประเทศ เป็นเรื่องที่เอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรไทย จนถึงขั้นสามารถทำลายการเลี้ยงสุกรไทยเลยก็ว่าได้ จึงต้องจัดแถลงข่าวเพื่อหาวิธีที่เข้มงวดจากภาครัฐและเอกชนในการกำจัดขบวนการดังกล่าว”
ด้าน นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ถ้ายัง ปล่อยให้มีการลักลอบนำ หมูราคาถูกเข้ามา นอกจากจะทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยแล้ว ยังเป็นการนำโรค ASF กลับเข้ามาในระบบอีก เพราะไทยเราเริ่มคุม ASF ได้แล้ว เนื้อหมูนำเข้าเหล่านั้นมีวางจำหน่าย แพร่กระจายไปทุกภูมิภาค เป็นหมูแช่แข็งมาจากยุโรป ตามรายงานข่าวเมื่อ 4 ก.ค.2565 ว่ามีการระบาดของ ASF ที่เยอรมนี ยิ่งทำให้เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาเสมือนเป็นขยะที่เขาต้องทำลาย แต่ลักลอบส่งมาขายแบบถูกๆ หากปล่อยให้อยู่ในระบบก็จะมีโอกาสที่คนงานในฟาร์มไปสัมผัสนำเชื้อเข้าฟาร์มได้ การกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ ผู้เลี้ยงต้องเผชิญทั้งซัพพลายส่วนเกิน และเชื้อไวรัสในระบบที่พร้อมต่อเชื้อได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเร่งหาทางกำจัดการลักลอบนำเข้าอย่างด่วนที่สุด
ขณะที่ นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้มีราคาที่ต่ำกว่าราคาในบ้านเรามาก แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆกัน ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านเราที่ยังแพง ราคาอยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม โดยข้าวโพดในต่างประเทศรวมต้นทุนค่าขนส่งแล้วต่ำกว่าไทยไม่มาก ในขณะที่ข้าวสาลีเริ่มย่อตัวเล็กน้อย ดังนั้น เนื้อหมูที่ลักลอบหรือที่ตลาดเรียก “หมูกล่อง” มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นหมูติดเชื้อ ASF
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูลักลอบสูงเช่นกัน เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูปนเปื้อนไวรัส ASF ภาคอีสานก็จะมีการกระจายของเชื้อในเนื้อหมูนี้มากเช่นกัน สุดท้ายแล้วมันจะมาทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่ระลอกใหม่ สำหรับแนวทางแก้ไข ได้เคยชี้แนะให้กระทำในลักษณะ 3 ประสาน ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กับการจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริงก็ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเช่นกัน เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า ภาคใต้ยังมีจำนวนสุกรเพียงพอสำหรับการบริโภคในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาน่าสงสัยว่าจะมี “หมูกล่อง” มาแทรกผ่านช่องทางห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ที่ตั้งราคาจำหน่ายปลีกต่ำมาก โดยยอดจำหน่ายฟาร์มขนาดใหญ่ครบวงจรช่วงที่ผ่านมาลดลงไปประมาณ 30% แหล่งต้นตอของหมูกล่องที่มาจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้น่าจะมาจากภาคกลาง โดยพื้นที่ที่มีการเข้ามาทำตลาดมากที่สุดจะเป็น จ.นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา
ข้อกังวลผลกระทบก็คงเป็นในลักษณะเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ คือ การมาสร้างซัพพลายส่วนเกินให้ตลาดภาคใต้ ที่ถือว่าได้รับผลกระทบจาก ASF น้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ มีผลผลิตไม่ขาดแคลน เพียงแต่ว่าช่วงหลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยประเด็นเชื้อไวรัส ASF ที่อยู่ในหมูกล่องเหล่านี้มีโอกาสจะทำความเสียหายสูงให้กับ ผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดการระบาดในรอบใหม่ได้
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัว/วัน และมีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วประมาณ 70-100 ตัน/วัน ตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมามีการนำเข้า “ซากสุกร” ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 160-170 ตัน/วัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลง 30% ทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว
“ถึงแม้การกลับเข้าขุนใหม่ของผู้เลี้ยงจะเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตยังไม่มาก ซึ่งคาดว่าจะพอเพียงในพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้ แต่กลับมีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นเนื้อหมูลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ภาครัฐต้องรีบกำจัดเนื้อหมูผิดกฎหมายโดยเร็วที่สุด”