Sunday, 13 April 2025 - 8 : 40 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เอกชนขอบคุณรัฐบาลปลดล็อกขายเหล้า 2-5 โมงเย็น กระตุ้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว

จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจให้ยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและการป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่ม การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และการบริการ ร่วมกันยื่นหนังสือถึงรัฐบาลในวันเดียวกัน เพื่อสนับสนุนและขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเร่งด่วนนั้น 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 สภาผู้แทนราษฎรยังมีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นการปลดล็อกมาตรา 32 อนุญาตให้สามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม ทำให้ประชาชนทั่วไปหากถ่ายรูป ติดเหล้า-เบียร์ จะไม่ถูกดำเนินคดี ถือเป็นสองก้าวสำคัญในการผ่อนคลายกฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ของประเทศไทยที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้าหลังและไม่สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจยุคใหม่และถือเป็นการช่วยผลักดันการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม เสียงร้องขอจากภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักวิชาการยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในประเด็น “การยกเลิกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00–17.00 น.” ที่ยังเป็นข้อเรียกร้องสำคัญที่รัฐบาลกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการผ่อนคลายกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความปลอดภัยทางสังคม โดยในวันนี้ (11 เมษายน 2568) ตัวแทนจากภาคผู้ประกอบการและนักวิชาการที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าว ได้รวมตัวกันแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของประเทศที่ผู้ประกอบการพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ เลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถบอกได้ว่าในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่นั้นมีความเห็นตรงกันว่ากฎหมายนี้ไม่มีประโยชน์ แม้อาจจะมีฝ่ายรณรงค์ต้านเหล้าบางส่วนที่ยังอยากให้คงกฎหมายนี้ไว้อยู่บ้างเพราะเชื่อว่ากฎหมายนี้ทำให้มีการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง และมีการบริโภคที่น้อยลง แต่สิ่งนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะประชาชนทั่วไปก็ยังซื้อตุนกันไว้ได้ แต่ผู้ที่ได้รับอุปสรรคจากกฎหมายนี้โดยตรงคือนักท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

น.ส.ประภาวี กล่าวต่อไปว่า หากมีการยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ตนในฐานะเป็นผู้ประกอบการคราฟเบียร์ต้องตอบว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดกับธุรกิจเครื่องดื่มคราฟท์เบียร์โดยตรง แต่จะเกิดกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากกว่า อาทิ ร้านคราฟท์เบียร์หรือร้านอาหารที่ซื้อเบียร์ไปขาย หรือช่องทางต่างๆ ในห้าง ซึ่งตนไม่คิดว่ายอดขายคราฟท์เบียร์จะเพิ่มขึ้น แต่คิดว่าผลกระทบในเชิงบวกที่จะเกิดขึ้นก็คือ ประการแรก กฎหมายที่ปรับปรุงจะทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวก

ประการที่สอง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติมาผู้ค้าขายก็ไม่ต้องมาคอยตอบคำถามว่าทำไมซื้อขายในช่วงบ่ายไม่ได้, ประการที่สาม เมื่อก่อนนี้ร้านอาหาร ร้านคราฟท์เบียร์ส่วนใหญ่เปิดกลางคืน กล่าวคือเปิด 5 โมง ปิดเที่ยงคืน แต่หากกฎหมายห้ามขายเปลี่ยน ก็มีโอกาสที่ค่านิยมหรือว่าพฤติกรรมในการบริโภคของคนจะเปลี่ยน เช่น หากผู้ประกอบการเปิดร้านเร็วขึ้น เปิดขายมื้อเที่ยง ปิดสองทุ่ม เพราะว่าใช้เวลาของร้านได้เต็มที่แล้ว ผู้บริโภคก็กินเสร็จไว กลับบ้านได้ไว มีทางเลือกในการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

“นอกจากนี้ประเทศไทยเราก็ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ได้แก่ การห้ามขายเครื่องดื่มให้แก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และการดื่มไม่ขับ พร้อมกับปลูกฝังค่านิยมการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบและการดื่มไม่ขับให้เกิดเป็นวัฒนธรรม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ผู้ประกอบการพร้อมให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามภาครัฐอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด” น.ส.ประภาวี กล่าว

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ กฎหมายห้ามขายนี้เป็นกฎหมายที่ออกมานานแล้ว อาจเหมาะสมกับยุคสมัยนั้น ทว่าในปัจจุบัน คนที่รู้ว่ามีกฎหมายนี้อยู่ก็มีการปรับตัว อาทิ เมื่อลูกค้าไปรับประทานอาหารในห้างแล้วดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อถึงเวลาบ่าย 2 กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ ลูกค้าก็ไม่ได้รับความสะดวก แต่หากกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไป ลูกค้าก็จะมีความสะดวกในการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศ

“ร้านอาหารเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เป็นสถานที่ที่ปกปิดมิดชิด การดื่มอยู่ในการควบคุมได้ มันไม่ใช่การไปดื่มบนหลังรถหรือริมถนนข้างทาง แต่เป็นการดื่มในสถานที่ที่มีการจัดระเบียบอย่างเหมาะสมและปลอดภัย นอกจากนี้การยกเลิกกฎหมายห้ามขายก็จะช่วยเรื่องการท่องเที่ยวด้วย ตอนที่กฎหมายห้ามขายออกมา ประเทศไทยเรายังไม่ได้พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงขนาดนี้ ตอนนี้บริบทของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว ข้อเสนอให้มีการยกเลิกการห้ามขายช่วง 14.00-17.00 น. น่าจะเป็นข้อเสนอที่ง่ายที่สุด ดีที่สุด ทำได้เลย ที่จะอยู่ในความไม่ขัดแย้งของใคร และสร้างประโยชน์ให้กับการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว” นางฐนิวรรณ กล่าว

นางฐนิวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่ตนนั้นไม่มีผลประโยชน์กับเรื่องแอลกอฮอล์เพราะร้านอาหารนั้นมีกำไรส่วนใหญ่จากการขายอาหาร ตนมองว่าการสร้างสมดุลให้กับกฎหมายและนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องคำนึงถึงบริบททุกด้าน ทั้งสาธารณสุข ความปลอดภัยบนท้องถนน ความรุนแรงที่เกิดจากการดื่ม เศรษฐกิจ ฯลฯ ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอดก็คือการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยยังไม่ได้เข้มแข็ง มีผู้ที่หลีกเลี่ยงกฎหมาย มีการจ่ายใต้โต๊ะ ตนอยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างบริสุทธิยุติธรรมจากผู้บังคับใช้กฎหมายจริงๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวข้องได้

ด้าน ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย นักวิซาการด้านเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่ม ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ… และรองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. เป็นหนึ่งในสิ่งที่ฝ่ายต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องเห็นร่วมกัน โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฯ ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งเพิ่งจะผ่านวาระที่ 1 ไป คาดว่าต้องใช้เวลาอีกซักพักหนึ่งจึงจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 โดยอาจเป็นเดือนกรกฎาคม

“การยกเลิกมาตรการห้ามขายช่วงบ่ายนั้นติดที่ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 ปี พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นที่มาของมัน ตามกระบวนการที่ได้คุยกัน การยกเลิกจะออกเป็นประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังจากที่พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลบังคับใช้และยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าว ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวจากฝั่งรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมานั้นทำให้เชื่อได้ว่า พรรคเพื่อไทยมีนโยบายผ่อนคลายตรงนี้เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับภาคธุรกิจ” ผศ.ดร.เจริญ กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.ดร.เจริญ ยังกล่าวถึงประเด็นมาตรา 32 ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญของพระราชบัญญัติฯ นี้ ด้วยว่า ตนรู้สึกยินดีที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาตรานี้และมีมติให้ปลดล็อคการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเปลี่ยนแปลงนี้มาจากนโยบายของรัฐบาลอีกเช่นกัน โดยในที่ประชุมกรรมาธิการฯ ที่ผ่านมานั้นการคุยเรื่องมาตรา 32 ออกมาแบบเข้มงวด มีการล็อคองค์ประกอบต่างๆ ไว้ในพระราชบัญญัติฯ ส่วนรัฐบาลนั้นต้องการให้มีการผ่อนคลาย จึงเสนอร่างแก้ไขเข้ามาและชนะโหวตในสภาไป ซึ่งตนก็เห็นด้วยมาตรา 32 นั้นเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ผู้ประกอบการใหญ่ก็ได้ รายย่อยก็ได้ 

“หารัฐบาลที่จะกล้าทำแบบนี้ยากนะ รัฐบาลที่จะฝ่ากระแสคนดีออกมาทำแบบนี้ ส่วนสว.นั้นก็มีทั้งส่วนที่ไม่เห็นด้วยและที่เห็นด้วยกับเรา ซึ่ง สว.จะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการพิจารณากฎหมายตัวนี้ จะมีการแก้ไขเนื้อหาหรือไม่ เราต้องจับตาดูกระบวนการนี้กันต่อไป” ผศ.ดร.เจริญ กล่าวทิ้งท้าย

© 2021 thairemark.com