ผู้ประกอบการหนุนนายกฯ พิจารณายกเลิกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่าย 2-5 โมง เพื่อสร้างเศรษฐกิจ ย้ำ “เมาต้องไม่ขับ” พร้อมสนับสนุนบังคับใช้กฎหมาย
หลังจากที่รัฐบาลดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งทำการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ทันสมัย โดยทางฝั่งผู้ประกอบการได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตราการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. มาโดยตลอดนั้น ล่าสุด ในบรรยากาศที่ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญ กำลังเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ตัวแทนผู้ประกอบการได้ร่วมกันแสดงจุดยืนสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณายกเลิกมาตรการห้ามขายในช่วงเวลาดังกล่าว
นายกวี สระกวี นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า มาตรการห้ามขายในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. นั้นมีที่มาจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ.2515 ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร จุดเริ่มต้นของมาตรการนี้คือรัฐต้องการป้องกันไม่ให้ข้าราชการดื่มในเวลาทำงานราชการ ซึ่งปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้ว และทุกวันนี้ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว มาตรการ 14-17 จึงสร้างผลกระทบที่เห็นได้ชัด จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนเปลี่ยนแปลงมาตรการที่มีอายุมากว่า 50 ปี ซึ่งผู้ประกอบการขอสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้
“มาตรการห้ามขายนั้นมีอยู่ในทุกประเทศ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะฟันหลอแบบประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศไทยมีการห้ามซื้อขายเวลา 14.00 – 17.00 น. คนไทยซึ่งคุ้นเคยและปรับตัวได้แล้ว สามารถซื้อก่อนเวลาหรือซื้อตุนไว้ได้ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึงแล้วไม่ได้เตรียมตัวมา ก็อาจจะไม่ได้พักผ่อนอย่างที่ตั้งใจไว้” นายกวี กล่าว
นายกวีกล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นสร้างรายได้จากการขายให้กับเศรษฐกิจไทยราว 6 แสนล้านบาท และภาครัฐมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 1.5 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ฝั่งผู้ประกอบการนั้นก็ตระหนักเช่นกันถึงเรื่องต้นทุนทางสังคมและประเด็นที่คนห่วงกังวล อาทิ ความกังวลว่าจะมีเยาวชนเป็นนักดื่มไหม นี่คือเรื่องที่ฝั่งผู้ประกอบการเห็นตรงกับฝ่ายที่กังวล ทั้งนี้โดยส่วนตัว ตนไม่รู้จักใครเลยในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ตั้งเป้าว่าจะทำอย่างไรให้เยาวชนมาดื่ม ส่วนเรื่องเมาแล้วขับซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของนั้น ฝั่งผู้ประกอบการก็อยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ก็หวังว่าทุกภาคส่วนจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างวัฒนธรรมการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้
ด้าน นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมาประเทศไทยตั้งเป้าตั้งเป้าหมายด้านรายได้จากการท่องเที่ยวไว้ที่ 3 ล้านล้านบาทจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน ส่วนเป้าหมายของปี 2568 นี้คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้จะนำรายได้มาสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้รับเสียงสะท้อนจากนักท่องเที่ยวว่ามีอุปสรรคในการหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“ในช่วงที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายและทำแคมเปญต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง แต่ยังคงมีกฎหมายและมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยที่เปลี่ยนไปอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. เราผู้ประกอบการเห็นร่วมกันว่ามาตรการห้ามขายในเวลาดังกล่าวควรถูกยกเลิกได้แล้วและขอสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องรอพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่” นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีข้อมูลจากงานศึกษาที่บอกว่า นักท่องเที่ยวยุโรปที่เข้ามาในประเทศอาเซียนนั้นมีงบประมาณสำหรับอาหารและเครื่องดื่มราว 250 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยจากข้อมูลนี้จะเห็นว่าหากประเทศไทยให้ทางเลือกในการใช้จ่ายกับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ ก็จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มาก ซึ่งในฝั่งของโรงแรมนั้น ผู้ประกอบการโรงแรมต้องการให้โรงแรมเป็นพื้นที่ผ่อนปรนที่นักท่องเที่ยวสามารถดื่มได้ตลอดเวลา เพราะว่านักท่องเที่ยวนั้นไม่ต้องขับรถ และผู้ประกอบการไทยนั้นก็สามารถดูแลแขกของโรงแรมได้
ส่วน น.ส.ประภาวี เหมทัศน์ เลขาธิการสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟท์เบียร์ (สมาคมคราฟท์เบียร์) และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์ในวันนี้ก็คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำกฎหมาย ซึ่งการยกเลิกมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการเสนอและถูกรับฟัง
“หากรัฐบาลยกเลิกมาตรการห้ามขาย คนที่จะได้ประโยชน์คือผู้ประกอบการรายย่อย เช่นร้านอาหารเล็กๆ หรือร้านเครื่องดื่มกลางคืนที่เปิด 5 โมง ปิดเที่ยงคืน ร้านเหล่านี้ก็จะสามารถใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ได้จากขยายเวลาเปิดช่วงกลางวัน ทุกวันนี้บางร้านเปิด 11 โมงแล้วก็ต้องเบรกเพราะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ แต่หากพวกเขาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ในช่วงกลางวันก็ไม่ต้องตอบลูกค้าว่าจะขายหรือไม่ขาย ร้านรายย่อยเหล่านี้ก็จะมีตัวเลือกในช่วงเวลาเปิดทำการมากขึ้น สามารถปิดเร็วขึ้นได้ด้วยซ้ำเพราะขายได้ยอดแล้ว คนดื่มกลับบ้านไวก็มีทางเลือกในการใช้ขนส่งสาธารณะกลับบ้านได้ ส่วนในภาคการท่องเที่ยวนั้นก็จะได้การตอบรับที่ดีมาก ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยคือหน้าด่านหลักที่ดูแลนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว” น.ส.ประภาวี กล่าว
น.ส.ประภาวี กล่าวต่อไปว่า ส่วนความกังวลที่ว่าการขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มโอกาสที่คนจะดื่มมากขึ้นไหม นี่คือสมการที่พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เพราะทุกคนก็รู้ว่ามีร้านโชว์ห่วยที่เปิดทั้งวันหรือมีคนเข้าห้างไปซื้อตุนไว้ ทั้งนี้ เราสามารถลองทำดูก่อนได้โดยขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6 เดือน – 1 ปี แล้วดูว่ายอดขายโตขึ้นผิดหูผิดตาไหม ถ้ายอดดื่มโตขึ้นขนาดนั้นจริงๆ ก็มาปรับกันได้
“อยากให้รัฐบาลเชื่อใจผู้ประกอบการ เชื่อใจประชาชน ให้พวกเราได้มีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจไทย รัฐบาลมีงานหนักอยู่แล้ว การเปิดโอกาสให้ประชาชนคือการแบ่งเบาภาระให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการอยู่แล้ว เชื่อใจพวกเราเถิด เพราะว่าเราต่างก็ต้องการชีวิตที่ดี” น.ส.ประภาวี กล่าวทิ้งท้าย.