Friday, 3 January 2025 - 10 : 54 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ก.ค.ศ. เปิดเวทีนานาชาติ ร่วมถก “ภาวะผู้นำร่วม” ชี้เป็นกุญแจความสำเร็จ ของโลกการเรียนรู้แห่งอนาคต

เมื่อเร็วๆ นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปี พ.ศ.2567 (The OTEPC International Forum on Teaching Profession Development 2024) ภาวะผู้นำร่วม : กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต (Collective Leadership: The Key to Success in Future Schooling) โดยมี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยในการประชุมได้จัดให้มีการบรรยายพิเศษ และนำเสนอข้อมูลเรื่องภาวะผู้นำร่วมในระดับนานาชาติ อย่างกว้างขวางและน่าสนใจ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับโลกที่มีความผันผวน การเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล การติดต่อสื่อสารได้เชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็ว การมีผู้นำที่เข้มแข็งและมีทัศนคติที่ดี (Growth Mindset) ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจึงมีความสำคัญมาก ปัจจัยเหล่านี้เป็นความท้าทายสำหรับอนาคตของโลกการศึกษา ซึ่งความสำเร็จนั้นมาจากความสามารถของทุกคน ที่มีศักยภาพแตกต่างกัน แต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานร่วมกัน ภายใต้แนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ที่จะเป็นแรงบันดาลใจ ในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งโลกอนาคต ของประเทศไทยต่อไป”

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.

ด้าน รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดประชุมนานาชาติฯ ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ภาวะผู้นำร่วม : กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดภาวะผู้นำร่วมจากประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ ในการเสริมสร้างบทบาทภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาและครูในสถานศึกษา ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรด้านการศึกษา นักวิชาการ นักการศึกษาจากนานาประเทศในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผู้เรียนในอนาคต”

สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจในการประชุม เริ่มต้นจากช่วงเช้าเป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง “พลังของการเป็นผู้นำร่วมในการเอาชนะความท้าทาย และความไม่แน่นอนทางการศึกษา” โดย ศาสตราจารย์ Pan Hui Ling Wendy จากมหาวิทยาลัย Tamkang ประเทศไต้หวัน ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญได้ว่า “โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและได้สร้างความท้าทายใหม่ให้แก่ผู้นำทางด้านการศึกษา ดังนั้น พลังของการเป็นผู้นำร่วมจะช่วยให้พวกเราสามารถผ่านความท้าทายนี้ไปได้ ซึ่งวิธีการเป็นผู้นำร่วม ไม่ได้หมายถึงการเป็นผู้นำเพียงคนเดียว แต่คือการใช้ศักยภาพของพวกเราทุกคนมาช่วยกันเพื่อพัฒนาการศึกษา โดยหลักการของการเป็นผู้นำร่วม ได้แก่ 1)การเป็นผู้นำร่วม (Collective Leadership) 2)การเป็นผู้นำที่แบ่งปันกัน (Shared Leadership) และ 3)การเป็นผู้นำที่กระจายอำนาจ (Distributed Leadership) เพื่อสร้างให้นักเรียนเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” ส่วนในช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอข้อมูลของแต่ละประเทศ ในเรื่องบทบาทของการเป็นผู้นำร่วมในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของนักวิชาการในระดับนานาชาติ

ดร.รัตนา แซ่เล้า

โดย ดร.รัตนา แซ่เล้า ผู้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจำปี 2549 และนักวิชาการชาวไทย ได้ขึ้นมานำเสนอตามชื่อเรื่อง “ภาวะผู้นำร่วม : การตามหาม้าวิเศษ (ยูนิคอร์น)” โดยได้เล่าประสบการณ์การเป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับรายการหนึ่งในพระราชดำริ ทางช่อง 9 MCOT HD ซึ่งตลอด 4 ปีที่ผ่านมาทางรายการได้นำเสนอสารคดีเรื่องความเป็นผู้นำกับการปฏิรูปการศึกษามากกว่า 50 ตอน ซึ่งพบว่าผู้นำที่ดีมีอยู่ทุกที่ในประเทศไทย โดยได้ยกกรณีศึกษาจากโรงเรียนบ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ อ.ลี้ จ.ลำพูน, โรงเรียนบ้านกำพี้เหล่ากาเจริญศิลป์ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม และโรงเรียนวัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง โดยเปรียบเทียบว่าผู้บริหารของทั้ง 3 โรงเรียนเหมือนยูนิคอร์น ที่ถึงแม้จะบริหารบนความขาดแคลน แต่ก็มีภาวะผู้นำที่สามารถระดมแรงและระดมทุนจากชุมชน มาพัฒนาโรงเรียนของตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจัยสำคัญในการสร้างผู้นำคือการกระจายอำนาจ, กระจายโอกาสการเรียนรู้ และสร้างวัฒนธรรมของการไว้ใจซึ่งกันและกัน”

โดยนอกจากนี้ยังได้มีนักการศึกษาจากอีกหลายประเทศ อาทิ ดร.เจฟฟ์ เดวิส จากประเทศแคนาดา, นายศุภโชค ปิยะสันติ์ ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย, นางคูนวิไล เคนกิติสัก จากประเทศ สปป.ลาว และนาย Saifulnizan Che Ismail จากประเทศมาเลเซีย ได้ขึ้นมานำเสนอข้อมูลเรื่องบทบาทของการเป็นผู้นำร่วมในแต่ละประเทศในหลากหลายมิติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา และการเรียนรู้ในอนาคต ของประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

© 2021 thairemark.com