Thursday, 23 January 2025 - 2 : 25 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

พันเอก(พิเศษ) สบสันต์ ธรรมวิหาร อดีตตุลาการศาลทหาร & ทหารอาชีพ

จากคำกล่าวที่ว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดีฉันใด..กรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่สิ้นคนดีฉันนั้น” ก็คงไม่ผิดไปจากความจริงเท่าใดนัก ด้วยสายเลือดบรรพบุรุษกษัตริย์นักรบไทย ดังเช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นับเป็นตัวอย่างของความเสียสละเพื่อชาติได้เป็นอย่างดี มาถึงยุคปัจจุบันลูกหลานทหารไทยยังคงหวงแหนบ้านเกิดเมืองนอนอย่างเปี่ยมล้นด้วยปณิธานอันสูงสุดที่จะปกป้องผืนแผ่นดินไทย ด้วยเลือดเนื้อและชีวิตแม้จะต้องปิดทองหลังพระก็ตาม

เอก(พิเศษ) สบสันต์ ธรรมวิหาร”นับเป็นชายชาติทหารอีกผู้หนึ่ง..ซึ่งตลอดชีวิตที่รับราชการท่านได้มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลัง   นับว่าเป็นทหารอาชีพที่มีจิตสำนึกในความเป็นรั้วของชาติ ยึดมั่นในชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เป็นหลักครองตน นั่นคือ การปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ให้ได้ด้วยชีวิต  ยังคงดำรงตนอยู่ในคุณธรรมความดีและถวายความจงรักภักดีและปก ป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ อันทรงคุณยิ่งต่อประเทศชาติด้วยความจริงจังและจริงใจ.. ปัจจุบันถึงแม้ท่านจะเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว แต่สิ่งที่ไม่ได้ห่างหายไปจากใจก็คือ  

“การสำนึกรักบ้านเกิดและสนองคุณแผ่นดิน”….ในวาระนี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำคำสัมภาษณ์ พันเอก(พิเศษ) สบสันต์ ธรรมวิหาร เผยแพร่ลงใน ADAYNEWS 
โดยมีคติธรรมหลากหลายแง่มุม อันจะเป็นแนวทางให้กับเยาวชนตลอดจนเหล่าทหารหารรุ่นหลัง ๆ ที่ต้องการเจริญเป็น “ทหารอาชีพ” ได้นำไปเป็นแบบอย่าง ในการประพฤติปฏิบัติในโอกาสต่อไป

อทราบประวัติช่วงเริ่มต้นของชีวิต  ?

ผมเกิดในตระกูล “ธรรมวิหาร” เป็นลูกของคุณพ่อประเสริฐ และคุณแม่ศรี  มีพี่น้องทั้งหมด  7 คน โดยพี่น้องทุกคนล้วนดำรงตนตามอัตภาพด้วยสัมมาอาชีวะ กับเป็นคนดีของสังคมอย่างที่พ่อแม่อบรมมา  เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจร่วมกันทั้งของพ่อแม่และพี่ ๆ น้อง ๆ ทุกคน.

พันเอก(พิเศษ) สบสันต์ ธรรมวิหาร


“แม่เล่าฟังว่า ผมเกิดด้วยฝีมือหมอตำแย ที่ท่าช้างวังหลวง  เป็นลูกทหาร ตอนเกิดคุณพ่อมียศสิบเอก เคยเป็นทหารกองร้อยพิเศษ กรมทหาร รักษาวัง ตามถวายอารักขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7 )จากวังไกลกังวล ไปส่งเสด็จฯ ถึงจังหวัดสงขลา ต่อมาท่านได้ย้ายเข้ากรุงเทพฯ จนมาสังกัดกรมการรักษา ดินแดนในที่สุด …”

..เมื่อวัยถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียน คุณพ่อได้พาเข้าเรียนในระดับชั้นประถมที่โรงเรียนนันทนศึกษา(หน้าโรงพักดุสิต) หลังจากเรียนจบชั้นประถมได้เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมจนจบม.8 สายศิลป 

“..หลังจากเรียนจบชั้นม.8 แล้ว  ได้สมัครสอบที่ศูนย์รักษาความปลอด ภัย(ศรภ.)  ปรากฏว่า ผมสอบได้ที่หนึ่งแต่ได้สละสิทธิ์ โดยเลือกที่จะสอบเข้าเป็นตำรวจพลร่ม“รุ่น 180”  ที่ค่ายนเรศวร หัวหิน  ผลการสอบผมติดข้อเขียนได้ที่หนึ่ง แต่สอบตกในชั้นตรวจโรคเนื่องจากตาบอดสี  ….วันรุ่งขึ้นก่อนกลับ ทราบว่าทางค่ายรับสมัครล่ามภาษาอังกฤษ จึงขอเข้าสอบสัมภาษณ์ไว้ จากนั้นไม่นานผมได้รับหนังสือเรียกตัวให้ไปทำงานเป็น “ล่ามเล็ก” รับเงิน เดือน1,000 บาท ทำหน้าที่ล่ามให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่มาสอนหลัก สูตร การรบแบบกอง โจร (Special Guerrilla Unit) กับหลักสูตรปฏิบัติการพิเศษ (Special Operation Training) ให้แก่ทหาร ม้งลาวของนายพลวังเปา ที่ค่ายมฤคทายวัน ชะอำ  โดยอยู่กินนอนบนพระราชนิเวศน์ฯ ต่อเบื้องพระพักตร์พระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ตลอดทั้ง 5 เดือน” 

…ต่อมาได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ..สอบได้เป็นอันที่ 201 จากทั้งหมด 800 กว่าคน นับเป็นนักศึกษาศิลปศาสตร์รุ่น 2…. ระหว่างเรียนผมได้เรียนพิเศษวิชาภาษาฝรั่งเศส ซึ่งจัดสอนพิเศษสำหรับผู้จะเรียนต่อการทูต หรือศิลปศาสตร์ฝรั่งเศส ก็อาศัยความรู้เดิมที่เรียนพิเศษจากอาจารย์เกริกฯ ด้วยใจชอบ  จนได้ดิกชันนารีจากอา จารย์เป็นรางวัลที่สอบได้คะแนนสูงสุด…

….ระหว่างที่กำลังศึกษาที่สถาบันฯ ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมหลายอย่าง เริ่มจากร่วมเป็นทหารถือหอกในขบวนเสด็จฯพยุหยาตราทางสถลมารคในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบเมื่อปี 2506…ในปีถัดมาได้รับเลือกเป็นดรัมเมเยอร์ นำสารวัตรสนามเข้าสนามศุภฯ ในงานฟุตบอลประเพณี ได้โยนคทาสูง 3 รอบ ตรงกลางสนามหน้าพระที่นั่ง “ผมเป็นอยู่สองปี นับเป็นความภาคภูมิใจถึงสองครั้ง”  นอกจากนี้ได้เข้าร่วมเป็นเชียร์ลีดเดอร์ (โดยมีเพื่อนคือ สุขุม นวลสกุล เป็นประธานเชียร์)   ด้านกีฬา  ได้เข้าแข่งขันประเภทยูโด รักบี้ ทศกรีฑา ฟุตบอล มวยทะเล เรือดั้ง ฯลฯ 

“สิ้นปีการศึกษา 2510 ได้สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งผู้สื่อข่าวกีฬาสังกัดนสพ.บางกอกโพสต์  โดยสอบสัม ภาษณ์กับ ประเสริฐ  มโนมยางกูร และได้ทำงานทันที ได้ครูสอนการทำข่าวที่ดี คือ แอนตัน เปเรร่า บรร ณาธิการข่าวกีฬา  ในปีต่อมาได้จบการศึกษา ปริญญาตรี เป็นรัฐศาสตรบัณฑิตร.บ.(การทูต) มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์  จึงคิดเปลี่ยนอาชีพมาเป็นทหารตามที่มุ่งมั่นไว้ …         

แรงบันดาลใจมุ่งเข้าสาย“ทหาร” บนเส้นทางการศึกษา

…คงจะเพราะเป็นลูกทหาร   ชีวิตเบื้องต้นส่วนใหญ่วนเวียนอยู่แต่บ้านพักของทางราชการทหาร จิตสำนึกจึงฝังแน่นอยู่กับทหารตั้งแต่เด็ก..เมื่อใจมันเป็นทหารตั้งแต่ต้น  ถึงจบรัฐศาสตร์ (การทูต) มาก็ยังมุ่งไปเป็นทหาร   พอจบธรรมศาสตร์รุ่นพี่รัฐศาสตร์ แนะให้เข้าไปสมัครกับ พลโทเจริญ พงศ์พานิช เจ้ากรมข่าวทหารโดย ตรง..ผมจึงพาพ่อแต่งพันตรีไปพบท่านฯ ทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน เรียนกับท่านว่า น่าจะทำประโยชน์ให้กองทัพได้ ท่านก็รับไว้ด้วยเมตตาและท่านก็กำหนดแนวทางชีวิตให้เป็นทหารบก
เหล่าทหารราบโดยเริ่มจากตำ แหน่งร้อยตรีเมื่อปี2512  ประจำ กรภ.ขว.ทหาร  บก.ทหารสูงสุด          

การทำงานในช่วงแรก เจ้ากรมเจริญฯ ได้มอบหน้าที่ให้เป็นผู้ตรวจสอบข่าวสารรายละเอียดก่อนจะสรุปนำเรียนผู้บังคับบัญชาชั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเกี่ยวกับการเมือง และด้วยเหตุที่ช่วงนั้นประเทศชาติอยู่ในภาวะคับขัน(ขอทราบเหตุการณ์สั้นๆ ผมจึงต้องเข้าปฏิบัติการข่าวแบบ “คลุกวงใน” หลายเรื่อง เพื่อระงับเหตุการณ์มิให้ลุกลามจนเป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ

“อยู่กรมข่าวทหาร 12 ปีเศษ เรียนชั้นนายร้อย ชั้นนายพัน เหล่าราบ ที่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นได้เข้าสู่เส้นทางการเป็นนักวิชาการและอาจารย์ โดยพัฒนาด้านการศึกษาเป็นลำดับดังนี้

– หลักสูตรการสอบสวนพิเศษ ทอ.สหรัฐฯ  วอชิงตัน ดี.ซี.(2516)

– หลักสูตรข่าวกรองระดับหน่วย ทบ.ออสเตรเลีย  ควีนสแลนด์ (2519)

– หลักสูตรนายทหารข่าวกรองยุทธวิธี ทบ.สหรัฐ  อริโซน่า (2522) …

– เข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบก(รร.สธ.ทบ.สบส.)  หลักสูตรหลักประจำชุดที่ 59  (2523)

 – ในปี 2525 ได้เลื่อนเป็นหน.ฝ่ายฯ และรับหน้าที่เป็นอาจารย์โรงเรียนข่าวทหารบก  (อจ.รร.ขว.ทบ.)

   จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2526 จึงได้รับการติดยศ พันโท…

 – อบรมหลักสูตรเสนาธิการ ทบ.ฝรั่งเศส  รุ่นที่ 60 กองเปียญ  ก่อนที่จะรับหน้าที่เป็นนายทหารวิจัย
   และพัฒนาการรบ  กองวิชาการ สบส. (2528) และหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ (กำลังพล) สบส. ในปี 2529
   ซึ่งในปีเดียวกันได้เลื่อนตำแหน่งพันเอก (11 ธ.ค.29)  และตำแหน่งพันเอก (พิเศษ)  เมื่อ  14 ม.ค.34

   “ระหว่างปี 2533 รับหน้าที่เป็นผู้พัฒนาระบบ เผยแพร่และจัดทำตำรา “การพิทักษ์พื้นที่เขตหลัง”
   รวมทั้งสนธิระบบการพิทักษ์พื้นที่เขตหลัง เข้ากับงานป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ยุคปัจจุบัน ..”

ด้วยท่านสบสันต์เป็นผู้ใฝ่ด้านการศึกษามาโดยตลอด  ถึงแม้จะมีตำแหน่งในระดับชั้นสูง ก็ยังคงเรียนต่อสายทหารในระดับปริญญาโท ศศ.ม.(การทหาร)  รร.สธ.ทบ.สบส.  เข้ารับการหลักสูตรวิทยาลัยการทัพบกฝรั่งเศส  ปารีส  ปี 34-35 และเป็นประธานนายทหารนักเรียนวิทยาลัยการทัพบกฝรั่งเศส รุ่นที่ 19  ล่าสุดได้เป็นผช.อจ.อำนวยการส่วน  รร.สธ.ทบ.สบส. (2534) ก่อนประจำวทบ.สบส. ( 2535) 

“ระหว่างปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ กับกำลังเป็นผู้ช่วยนายทหารเตรียมการ รร.สธ.ทบ.สบส. ได้รับคำสั่งให้มารับตำแหน่งเป็นฝสธ.สบส.(ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายกำลังพล) ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับพันเอกธรรมดาที่มีบทบาทในหน่วยสูงมาก ”

 อยากให้เล่าเกี่ยวกับกับชนกลุ่มน้อย – พม่า และงานที่เกี่ยวข้อง  ?

ชนกลุ่มน้อยไม่ว่าจะในประเทศใด ก็คือกลุ่มชนที่มีเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา หรือแนวคิดทางการเมืองหรือทางผลประ โยชน์ที่ขัดกันชัดเจนกับกลุ่มผู้ปกครองประเทศซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ .. สำหรับพม่า ชนกลุ่มน้อยเป็นชนเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ ที่ถูกปฏิเสธจากกลุ่มอำนาจทหารพม่า มิให้ได้รับเอกราชตามสนธิสัญญาที่ทำกันไว้เมื่อคราว  ที่ได้รับเอกราชจากอังกฤษว่าจะให้แยกตัวออกไปจากสหภาพพม่าได้หลังจาก 10 ปีผ่านไป ด้วยเหตุผลว่าไม่ต้องการให้ประเทศแตกแยก จากนั้นความปรองดองชั่วคราวก็เกิดขึ้นด้วยการอนุญาตให้ชนเผ่าต่าง ๆ ปกครองตนเองอยู่ภายใต้สหภาพพม่า ขณะเดียว กันก็มีความพยายามที่จะกลืนเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ อย่างไร้ผล และยังซ้ำเติมด้วยปัญหาการเมืองระหว่างพม่าด้วยกันเองอีก  เมื่อรัฐบาลทหารพม่าแข็งขืนต่อโลกภายนอกเช่นนี้ จึงมีการแทรกแซงด้วยประการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง ยังผลล่าสุดให้รัฐบาลทหารพม่าต้องปรับรูปแบบของตนเองให้เห็นว่าเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว โดยที่เนื้อหายังยากที่จะหาข้อยุติที่ดีได้.

เริ่มช่วยราชการที่ส่วนโครงการ 311 ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ในเดือนมีนาคม 2540 ก็ได้ปฏิบัติงานด้านพม่า และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ได้ริเริ่มใช้และกำหนดแนวทางให้ตัวแทนพิเศษคือ Maxmilian Wechsler เข้าไปประสานทางลับกับผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่ากลุ่มต่าง ๆ จนสามารถรวบรวมและตรวจสอบข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ เนื่องจากผู้นำเหล่านั้นไว้ใจที่เป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งต้องใช้เงินบ้างตามความจำเป็นและความเหมาะสม  ผลจากการนี้ได้นำไปสู่การปฏิบัติที่สำคัญ ๆ  ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

การพบปะกับบรรดาผู้นำกลุ่มชนชาติ โดยการสนับสนุนด้วยข่าวสารที่แม่นยำและต่อเนื่องให้แก่ พ.อ.สุรศักดิ์ เอี่ยมรักษา  จึงทำให้ได้ร่วมงานปฏิบัติการพิเศษด้านพม่ากันอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปลายปี 41  รวมทั้งการเดินทางไปพบปะกับ นายพลโบเมียะ ผู้นำกลุ่มกะเหรี่ยง KNU ที่ อ.แม่สอด จว.ตาก, แทบูแพ ผู้นำกลุ่มคะยา KNPP ที่ อ.เมือง จว.แม่ฮ่องสอน, และ พ.อ.ยอดศึก ผู้นำกลุ่มไทยใหญ่ SSA-S ที่ อ.เวียงแหง จว.เชียงใหม่ ในเดือน ก.พ.42 ฯลฯ  กับได้สถาปนาการติดต่อกับผู้นำกลุ่มอื่น ๆ ผ่านตัวแทนพิเศษ Max อีกหลายกลุ่มเป็นเวลานาน

เหตุการณ์หลังการยึด สอท.พม่า/กรุงเทพฯ  (ต.ค.42)  หลังเกิดเหตุ ได้ให้ Max เข้าไปประสานกับกลุ่มกะเหรี่ยง God’s Army  แต่การเจรจาให้มอบตัวไม่เป็นผล เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเวลา และการเดินทาง

การประสานกับกลุ่มว้าที่ปางซาง ด้วยเหตุที่ขณะนั้นความเข้าใจของฝ่ายไทยเกี่ยวกับกลุ่มว้ามีอยู่น้อยมาก จึงให้จนท.ประสานกับ จาคอบ อดีตสมาชิก พคพ. เพื่อเดินทางไปสำรวจความเป็นไปได้  จากนั้นใน 11 – 16 เม.ย.44 จึงคณะเดินทางพร้อมด้วย พ.อ.สุรศักดิ์ฯ , MAX และวรศักดิ์ มหัทธโนบล (นักวิชาการจุฬาฯ-ล่ามจีน) ไปยังปางซาง  เมืองหลวงของรัฐว้า ได้พบปะกับ ซอใหม่ (เจ้าหมิง) รองประธานพรรคสหรัฐว้า (UWSP)   กับ เจ้าหวุนกวง รมต.เกษตร อดีต ผบ.รัฐว้าภาคใต้ และคณะเจรจากันโดยเน้นจี้จุดที่ เปาโยฉ่าง ประธานพรรค เคยลั่นวาจาไว้กับ พลโทขิ่นยุ้น ว่า “ถ้ากำจัดฝิ่นให้หมดไปจากรัฐว้าไม่ได้ภายในปี 2005 ให้มาตัดหัว”  กับแจ้งว่า ไทยซึ่งประสบความสำเร็จในการปลูกพืชทดแทนตามโครงการหลวงยินดีให้ความช่วยเหลือจนบรรลุผลตามต้องการ  และต่อมาเมื่อ 5 – 9 มิ.ย.44 ก็เดินทางไปปางซางอีกครั้ง   ด้วยชุดเดิมและวิธีเดิม  ได้พบกับ โปหล่ายคำ รอง ผบ.กองกำลังสหรัฐว้า (UWSA) และคณะ เจรจาเพิ่มเติมจากครั้งที่แล้วและได้รับหนังสือขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากไทย ตามที่เคยเจรจากันไว้  ยังผลให้ต่อมารัฐบาลไทยอนุมัติเงิน 20 ล้านบาท พร้อมส่งเจ้าหน้าที่โครงการหลวงพัฒนาดอยตุงให้ไปช่วยพัฒนาและสอนการปลูกพืชทดแทนที่หมู่บ้านยองข่า เขตว้าภาคใต้ ประเทศพม่า

ผลจากการนี้ทำให้ได้ปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องร่วมกับ พ.อ.สุรศักดิ์ฯ อีกหลายภารกิจ เช่น  หารือและแลก เปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า , ประสานความร่วมมือขั้นต้นกับหน่วยข่าว ISI, หน่วย งาน ศึกษาและหน่วยงานอุตสาหกรรมทางทหารของปากีสถาน ที่กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน.  การขอตัวทหารไทยคืนจากพม่า  โดยได้เจรจากับ  พ.อ.โกโกหม่อง ผู้ช่วยทูตทหารพม่า/กรุงเทพฯ  เพื่อขอรับกลับคืนมาสู่ครอบครัว  … ผลการเจรจา ประสบความสำเร็จ  พ.อ.โกโกหม่อง อนุมัติให้ฝ่ายไทยไปรับตัวทหารไทย 2 คนคืนมา โดยไม่ต้องให้เป็นข่าว   

งานด้านตุลาการศาลทหาร เป็นอย่างไรค่ะ?

ผมได้รับแต่งตั้งเป็น ตุลาการศาลทหารกรุงเทพ  4 สมัย ระหว่างปี 2540-2545 โดยปฏิบัติหน้าที่ตุลาการร่วม ขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดีในพระปรมาภิไธยฯ มากกว่า 100 ครั้ง  ลงนามในคำพิพากษาหลายสิบคดี  รวมทั้งทำหน้าที่ถวาย พระองค์ภาฯ ทอดพระเนตร กับเป็นประธานตุลาการ พิพากษาเมื่อ 14 ม.ค.47 ให้ประหารชีวิตจำเลย   ในคดีชิงทรัพย์ พยายามข่มขืน และฆ่าผู้อื่น แม้จะสารภาพตลอดข้อหา แต่เพราะจำนนด้วยหลักฐาน 

ต่อมา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ตุลาการศาลทหารกลาง ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.47 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลง 12 พ.ค.47  ได้เข้าเฝ้าถวายสัตย์ที่วังไกลกังวล หัวหิน เมื่อวันที่ 27 ส.ค.47 จากนั้นก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นเกียรติ 1 ครั้งเมื่อวันที่ 14 ก.ย.47  ก่อนจะพ้นตำแหน่งไปเพราะครบเกษียณอายุ

 มีทรรศนะกับคำว่า ทหารอาชีพอย่างไร ?

ทหารอาชีพ” เป็นคนละความหมายกับ “มีอาชีพเป็นทหาร” .. คงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “Old soldiers never die” นั่นหมายถึงต้องเป็นทหารทั้งเลือดเนื้อและกายใจไปจนตลอดชีวิต เป็นทหารที่มีจิตสำนึกในความเป็นรั้วของชาติ ซึ่งจะต้องมีความรักชาติเป็นทุน และสำหรับทหารไทยก็ควรจะต้องยึดมั่นในชาติ ศาสนา และพระ มหากษัตริย์ เป็นหลักครองตน นั่นคือต้องปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติไว้ให้ได้ด้วยชีวิต ต้องดำรงตนอยู่ในคุณธรรมความดีอันเป็นเป้าหมายหลักของทุกศาสนา และต้องถวายความจงรักภักดีและปกป้องสถาบันพระมหา กษัตริย์อันทรงคุณยิ่งต่อประเทศชาติด้วยความจริงจังและจริงใจ

ส่วนการที่จะไปให้ถึงยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะต้องใช้ยุทธวิธีอย่างไรนั้นคงขึ้นอยู่กับอัจฉริยภาพของผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับชั้น ที่จะต้องใคร่ครวญและเลือกหนทางปฏิบัติที่เหมาะสมและทันเวลาโดยคำนึงถึงขีดความสามารถ  (Capability) และขวัญ (Morale) ของผู้ปฏิบัติคือผู้ใต้บังคับบัญชาของตนด้วย

มองประเทศไทยกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ?

ประเทศไทยโชคดีที่ตั้งอยู่  ณ  ภูมิประเทศอันอุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศโดยเฉลี่ยปานกลาง ทรัพยากรสำคัญไม่ขาดแคลน   แต่ขาดการบริหารจัดการที่เป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ ไม่ว่าจะด้วยการวางแผนที่ผิดพลาด หรือจงใจฉ้อฉล หนทางแก้ไขแม้จะยากยิ่งก็คือ การสร้างจิตสำนึกและวิจารณญาณให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้สามารถควบคุมระบบการเมืองและเหล่านักการเมืองให้เทียบเคียงได้กับในประเทศที่เจริญแล้วเท่านั้น 

ปรัชญาในการดำเนินชีวิต

การดำเนินชีวิต ได้นำหลัก 3 ประการมาใช้ในการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย

กระแสพระราชดำรัส “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ยังผลให้ชีวิตทุกวันนี้อยู่อย่างไม่ขาดแคลน ทั้งยังมีความสุขในระดับที่น่าพอใจ เพียงด้วยเงินบำนาญรายเดือนและสวัสดิการตามสิทธิเท่านั้น

ยึดถือโอวาทของเจ้ากรมเจริญฯ ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า “คนเราจะเอาอะไรกันนักหนา ได้แค่ 4 อย่างนี้ก็ควรจะพอใจแล้ว คือ  1. สุขภาพดี  2. ครอบครัวดี  3. มีเงินใช้ตามสมควร  4. มีฐานะในสังคม ฯลฯ”   

มีเคล็ดลับสู่ความสำเร็จอย่างไรค่ะ?

ความสำเร็จในชีวิตการทำงานของแต่ละคนย่อมมีแตกต่างกันไปตามความมุ่งหวังของบุคคลนั้น ๆ  ถ้าเป็นความสำเร็จของงานเฉพาะหน้า องค์ประกอบก็คงไม่พ้นไปจากหลักอิทธิบาท 4 ของพุทธศาสนา แต่ถ้าเป็นความสำเร็จในชีวิตการทำงานคงต้องหมายถึง การบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้อย่างเหมาะสมกับชีวิตตน
….ซึ่งเรื่องนี้อธิบายประกอบให้ใกล้กับตัวเองได้ว่า เมื่อไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อย ก็ไม่ควรตั้งเป้าหมายไว้ว่า สักวันหนึ่งจะเป็นผู้บัญชาการหน่วยกำลังในระดับต่าง ๆ เพราะความจริงก็คือ แม้ผู้ที่จบมาโดยตรงแต่ยังไม่เคยได้เป็นสักระดับก็มี  เป้าหมายที่ควรตั้งไว้ควรเป็นไปตามลำดับขั้นตอนเท่าที่จะพอมองเห็นอยู่ข้างหน้า ส่วนแต่ละคนจะมีเทคนิคอย่างไรเป็นเรื่องเฉพาะตัว ถ้าเป็นไปด้วยความถูกต้องชอบธรรมก็คงไม่มีใครว่าอะไร

สำหรับความสำเร็จในชีวิตทางด้านครอบครัวนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะมีองค์ประกอบอยู่ไม่มากนัก ที่สำคัญคือ ความรักความเข้าใจที่ต้องพยายามมีให้แก่กัน กับมีศีลธรรมเป็นตัวกำกับ ความจริงใจเป็นตัวนำทาง และคิดอะไรในทางบวกไว้เสมอ ก็จะประสบความสำเร็จ ไม่เฉพาะแต่ในครอบครัวเท่านั้น แต่จะเผื่อแผ่สร้างความสบายใจไปถึงญาติพี่น้องตลอดจนผู้อื่นที่ได้พบปะคบหากันอีกด้วย

เมื่อมีปัญหาและอุปสรรค มีแนวทางแก้ไขอย่างไร? 

ปัญหาและอุปสรรคล้วนเป็นธรรมดาโลก ซึ่งจะมีทั้งที่แก้ได้โดยง่าย แก้ได้แต่ยากหน่อย หรืออาจจะแก้ไม่ได้เลย  แต่ถ้าเข้าใจว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นธรรมดาแล้ว ก็ย่อมจะปรับสภาพและแนวทางต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมสอดคล้องกันได้  ที่แก้ได้ง่ายก็คงไม่มีปัญหาเท่าใดนัก  ที่แก้ได้ยากหน่อยก็อาจต้องนำมาวิเคราะห์ด้วยจิตใจที่เป็นกลางให้เห็นว่าอะไรคือปัญหาหรืออุปสรรค และควรหรือจำเป็นจะต้องแก้ไขหรือไม่  ..ถ้าต้องแก้ไขก็ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อดูว่าจะมีหนทางหรือทางออกที่ดีได้อย่างไร และทางออกนั้นเราเองจะยอมรับได้หรือไม่ หรือจะเกิดผลคุ้มค่าต่อการแก้ไขนั้นหรือไม่  เมื่อใคร่ครวญแล้วเห็นหนทาง จึงใช้สติเป็นตัวกำกับและดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่คิดได้นั้นด้วยความรอบคอบจนประสบความสำเร็จ .. แต่ถ้าพยายามแล้วไม่สำเร็จ หรือพิจารณาแล้วว่าน่าจะแก้ไม่ได้ หรือไม่อยากแก้ ก็คงต้องปล่อยให้ผ่านไป โดยจะต้องระวังตัวเองไว้มิให้ตกเป็นเหยื่อของปัญหาหรืออุปสรรคนั้น ตลอดจนระงับจิตใจมิให้ขุ่นหมองหรือฟุ้งซ่านไปโดยไม่จำเป็น ..

มีเยอะไปครับปัญหาและอุปสรรคในชีวิตนี้ที่แก้ไม่ได้ แล้วจะให้มันมาบั่นทอนร่างกายและชีวิตจิตใจโดยใช่เหตุไปทำไม .. แต่ควรระลึกไว้เสมอว่า แก้วันนี้ไม่ได้ วันหน้าอาจจะได้ … วันนี้แก้ยากวันหน้าอาจจะง่ายเป็นปอกกล้วยเข้าปาก และวันนี้อาจไม่จำเป็นต้องแก้แต่วันหน้าอาจจะจำเป็นก็ได้ .. ใช้ชีวิตแต่ละช่วงให้มีความสุขดีกว่าครับ”

มีสิ่งที่จะฝากเตือนทหารรุ่นหลัง?

….จะให้ฝากสิ่งใดถึงทหารรุ่นหลัง ๆ นั้นมิบังอาจ แต่เมื่อได้อ่านทั้งหมดนี้แล้วนี่แหละครับ คือสิ่งที่แต่ละท่านอาจนำไปคิดตาม และเลือกที่จะปฏิบัติตามถ้าเห็นชอบด้วย  ข้อสำคัญคือขอให้เป็น “ทหารอาชีพ” เถิด อย่าเป็นเพียงแค่ มีอาชีพเป็นทหาร”เท่านั้นเลย

ชีวิตหลังเกษียณ

ชีวิตหลังเกษียณเป็นชีวิตที่ถูกปลดเปลื้องจากภาระหน้าที่ทั้งปวงที่ได้แบกรับตลอดมา  ตั้งแต่จบการศึกษาและเริ่มเข้ารับราชการ ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็อยู่กับการร้องเพลง และพูดคุยออนไลน์กับเพื่อนสมาชิกไปเรื่อย ๆ เพื่อให้สมองได้ทำงานตามสมควร แต่คงไม่ขยายการติดต่อไปมากนักเพราะเกรงจะกลายเป็นภาระให้ต้องหมกมุ่นมากเกินไป  เย็น ๆ ก็เดินออกกำลังเบา ๆ ตามที่หมอแนะนำ ซึ่งจะได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านในละแวกใกล้ ๆ เป็นประจำ  มีจังหวะโอกาสนาน ๆ ทีก็ออกเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศต่างประเทศบ้าง ในประเทศบ้าง ไม่มีข้อจำกัดอะไรมากนัก  ด้านสุขภาพก็ไปพบแพทย์ตามนัดทุก 3 เดือนที่แผนกผู้สูงอายุ รพ.พระมงกุฎเกล้า .. 

หลังจากที่ผู้เขียนได้เรียบเรียง คำสัมภาษณ์ของ “พันเอก(พิเศษ) สบสันต์ ธรรมวิหาร” จบลง  สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ ความจริงใจและความมีน้ำใจของนายทหารท่านนี้ …ความมุ่งมั่นต่อการศึกษาตลอดชีวิตราชการของท่าน เพียงหวังที่จะให้กองทัพมีบุคลากรที่มีปัญญาและมีคุณภาพอย่างยิ่ง ประกอบกับท่านได้สร้างบรรทัดฐานในแง่คุณธรรมไว้ให้ทหารรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นตัวอย่าง หลายผลงานที่ท่านได้สร้างไว้ถึงแม้จะไม่ได้ถูกกล่าวขวัญถึงมากเหมือนคนการเมืองก็ตาม  แต่การที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ให้ ย่อมยิ่งใหญ่ในใจผู้ที่ได้รับเสมอ” 

โดย….วิชชุดา ดวงพรหม

© 2021 thairemark.com