Sunday, 8 December 2024 - 4 : 38 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ปทุมธานีพร้อมใจตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดชินวราราม

พ่อเมืองปทุมธานีร่วมประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือวัดชินวราราม สืบสานวัฒนธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 6 พ.ย. 2566 นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีตักบาตรพระร้อย ทางเรือ ณ ท่าน้ำวัดชินวรารามวรวิหาร (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมีพลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายธรรมนูญ แจ่มใส นายอำเภอเมืองปทุมธานี นางลัษมา ธารีเกษ วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี นายขจรเกียรติ จินดาวรานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมตักบาตรเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ฯ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระมงคลวโรปการ (ชำนาญ อุตฺตมปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดชินวราราม พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (วัชระ ภทฺทธมฺโม) และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ลงเรือรับบาตรในประเพณีตักบาตรพระร้อยในครั้งนี้ด้วย

ประเพณีตักบาตรพระร้อยทางน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของวัดที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ที่ชาวปทุมธานี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายมอญ ปฏิบัติกันมานานนับร้อยปี เพราะจังหวัดปทุมธานีมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้เกิดลำคลองหลายสายขึ้น เพื่อใช้เป็นเส้นทางการคมนาคม ใช้ในการชลประทาน ใช้ในการอุปโภคบริโภค อีกทั้งบ้านเรือนประชาชนแต่เดิมจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำลำคลองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในช่วงออกพรรษาเป็นช่วงน้ำหลาก บรรยากาศชุ่มชื่นการสัญจรไปมาทางเรือสะดวก ดังนั้น การตักบาตรพระสงฆ์จึงใช้เรือในการบิณฑบาตบริเวณท่าน้ำหน้าบ้านประชาชน ย้อนถึงประวัติความเป็นมา และพิธีปฏิบัติในประเพณีเก่าแก่นี้ หากวัดใดที่จะจัดพิธีตักบาตรพระร้อยต้องแจ้งกำหนดวันเสียก่อน ซึ่งประเพณีจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 13 ค่ำ เดือน 11 วนเวียนกันไปในแต่ละวัด ถึงวันงานทางวัดจะนิมนต์พระเพื่อร่วมพิธีแต่เช้ามืด จากนั้นจึงจัดลำดับโดยการแจกหมายเลขก่อนหลัง เสร็จแล้ววัดเจ้าภาพจึงถวายภัตตาหารเช้าแก่พระที่ร่วมพิธี

การตักบาตรพระร้อยจะเริ่มประมาณสองโมงเช้า นำโดยเรือพระพุทธวัดเจ้าภาพซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้เรือกระแชง ภายในเรือจะตั้งพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นจึงเป็นเรือพระสงฆ์เรียงตามลำดับหมายเลขที่ได้รับ เอกลักษณ์ของประเพณีคือการทำบุญตักบาตรจะประกอบขึ้นในเรือ ชาวบ้านจอดเรือจับเข้ากันเป็นพวง จัดเตรียมอาหารมาใส่บาตรพ่อพายท้าย แม่พายหัว ลูกนั่งกลางลำเรือ ส่วนพระภิกษุสงฆ์ลงเรือนั่งเป็นประธาน มีศิษย์วัดนั่งหัวเรือ ท้ายเรือคอยสาวเรือไปตามพวงหรือรับอาหารบิณฑบาต แม้วิธีปฏิบัติจะแปรเปลี่ยนไปบ้างตามยุคสมัย แต่ภาพความศรัทธาสามัคคียังคงดำรงสะท้อนออกมาจากผู้คนนับร้อย ผู้เฒ่าผู้แก่ หนุ่มสาว ยืนเรียงเป็นทิวแถว ขบวนเรือประดับแม่น้ำอย่างมีชีวิต อีกทั้งอาหารคาวหวาน หมี่กรอบ ผัดเผ็ด ผลไม้ ส้ม องุ่น กล้วยหอม ขนมถ้วยฟู ข้าวต้มหมัด ข้าวเม่าทอด ขนมตาล ขนมสอดไส้ แต่ละบ้านจัดเตรียมแยกไว้เป็นอย่างๆ เพื่อทำบุญตักบาตรในรุ่งเช้า

การตักบาตรพระร้อยในปัจจุบันส่วนใหญ่จะพบเห็นในลักษณะที่ “พระสงฆ์รับบาตรอยู่ในเรือ ส่วนชาวบ้านนั่งรออยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือบนแพ บนโป๊ะ” เป็นส่วนใหญ่ มีส่วนน้อยที่รอตักบาตรอยู่ในเรือ ประชาชนที่มาตักบาตรพระร้อยมีทั้งคนในพื้นที่ละแวกวัด คนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีที่ทราบกำหนดวันตักบาตร และคนจากจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการสัมผัส และมีส่วนร่วมในประเพณีตักบาตรพระร้อยทางเรือ ที่พบเห็นได้น้อยเต็มทีแล้ว และส่วนใหญ่จะใช้เส้นทางคมนาคมทางบกขนสำรับคาวหวานมาเตรียมใส่บาตรที่ริมแม่น้ำ ไม่ได้ขนลงเรือมาเหมือนในสมัยก่อนเพราะหลายๆ บ้านไม่มีเรือใช้แล้ว อีกทั้งปัจจุบันมีการสร้างประตูน้ำกั้นปากคลองที่จะออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงไม่สะดวกต่อการนำเรือออกมา

“ประเพณีตักบาตรพระร้อย ชาวบ้านมาด้วยใจที่เปี่ยมศรัทธา ถึงช่วงวันออกพรรษาประจำปี ต่างเตรียมข้าวของ ทั้งอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง พืชผักผลไม้ พระจำนวนกว่าร้อยรูปนั่งบนลำเรือล่องเลาะริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ให้ชาวบ้านได้ทำบุญใส่บาตรอย่างอิ่มอุ่น ริมน้ำเจ้าพระยาจึงเนื่องแน่นด้วยผู้คนซึ่งร่วมกันสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติกันมานับร้อยปีให้ดำรงอยู่ต่อไป”

© 2021 thairemark.com