Friday, 4 October 2024 - 1 : 15 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

แนวปะการังแหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูง

นักวิจัย “ม. รามคำแหง” นำเสนองานวิจัยฯ ภายใต้ สกสว.-บพข. แสดงศักยภาพการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนของแนวปะการัง

ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2566 โครงการศึกษาศักยภาพของระบบนิเวศแนวปะการังเพื่อเป็นแหล่งชดเชยการปล่อยคาร์บอน ในแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ

รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และผู้อำนวยการแผนงานท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มาฆมาส สุทธาชีพ อาจารย์ ดร.วิชิน สืบปาละ ดร.สิทธิพร เพ็งสกุล ดร.เจริญมี แช่มช้อย และนักวิจัยภายใต้แผนงานฯ จัดกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในการดูดซับคาร์บอน ณ โรงเรียนเทศบาล ๔ (วัดคีรีมาส) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนำเสนอผลการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนของระบบนิเวศแนวปะการังหลายแห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในแนวทรายบริเวณน้ำตื้น หญ้าทะเลบริเวณน้ำตื้น แนวทรายระหว่างหญ้าทะเลกับแนวปะการัง สาหร่ายทะเล พื้นตะกอนบริเวณกลุ่มสิ่งมีชีวิตปะการัง หญ้าทะเลบริเวณน้ำลึก และแนวทรายบริเวณน้ำลึก

คุณสมพงค์ บันติวิวัฒน์กุล เจ้าพนักงานประมงอาวุโส กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคุณปณิธาน บุญสา ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุยยั่งยืน ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล รวมทั้งบทบาทภาคประชาชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งนำเสนอวิธีการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การย้ายปลูกหญ้าคาทะเลโดยวิธีแยกกอ; 2) การย้ายปลูกต้นอ่อนหญ้าคาทะเลที่ได้จากการเพาะเมล็ด และ 3) การย้ายปลูกหญ้าทะเลชนิดที่มีขนาดเล็กโดยการสุ่มขุดออกมาเป็นแผ่นขนาดที่เหมาะสม

ผู้เข้าร่วมประชุมดำเนินการปลูกหญ้าทะเลเพื่อเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนบริเวณอ่าวท้องโตนด โดยมีคุณณัฐวดี บันติวิวัฒน์กุล นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมเจ้าท่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ชุมชนท้องถิ่น โรงเรียน ฯลฯ เข้าร่วมกิจกรรม

โครงการวิจัยฯ ได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ แก่ชุมชนและทุกภาคส่วนให้เห็นถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการปกป้อง คุ้มครอง และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน การปกป้องไม่ให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมมีความสำคัญมากกว่าการฟื้นฟู เนื่องจากการฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเล จำเป็นต้องใช้งบประมาณ เทคโนโลยี และกำลังคนจำนวนมาก จึงจะประสบผลสำเร็จในระยะยาว


ระบบนิเวศแนวปะการังและระบบนิเวศที่เชื่อมโยง เช่น ป่าชายเลน ป่าชายหาด หาดทราย หญ้าทะเล สาหร่าย และพื้นตะกอน มีความสำคัญทั้งในด้านการประมง การท่องเที่ยว การป้องกันชายฝั่ง แหล่งที่มาของยารักษาโรคและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ การศึกษาวิจัย รวมทั้งการเป็นแหล่งชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางของระบบเศรษฐกิจ BCG และเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่มีมูลค่าการขายสินค้าและบริการจากการท่องเที่ยว ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน

© 2021 thairemark.com