Saturday, 7 December 2024 - 9 : 02 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

อียูร่วม 36 ชาติ แสดงพลังหนุนยูเครนต้านรัสเซียเนื่องวันครบรอบ 1 ปีการรุกราน

อียูพร้อมคณะทูตานุทูตจาก 36 ประเทศและตัวแทนจากภาคประชาสังคมเข้าร่วมงาน ’12 Moments for Ukraine’ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับยูเครน เนื่องในวันครบหนึ่งปีของการรุกรานอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซีย

งานนี้จัดขึ้นโดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสวีเดน ประจำประเทศไทย ในฐานะประธานสภาสหภาพยุโรป ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตยูเครน ประจำประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางด้านมนุษยธรรมอันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของรัสเซีย

นักการทูตประจำประเทศไทยจากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลกร่วมกันกล่าวสาร 12 ข้อความที่แสดงถึงผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากการรุกรานของรัสเซีย ความไม่ย่อท้อของชาวยูเครน และแรงสนับสนุนที่แน่วแน่จากนานาชาตินับตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น แต่ละข้อความเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละช่วงเวลาในแต่ละเดือนของสงคราม นอกจากนี้ ยังมีประชาชน นักวิชาการ ตัวแทนจากภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ กว่า 80 คนได้เข้าร่วมงานซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวย้ำว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นการกระทำที่ละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ความพยายามที่จะเปลี่ยนเส้นเขตแดนโดยกำลังทหารเป็นการกระทำที่รับไม่ได้และผิดกฎหมายในศตวรรษที่ 21 และยังถือเป็นการบั่นทอนความเคารพต่อระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของกติกาภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างมากที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องร่วมกันยืนยันว่าสันติภาพที่ยืนยาว มีความชอบธรรม และรอบด้านต้องถูกสร้างขึ้นภายใต้หลักการพื้นฐานของกฎบัตรสหประชาชาติ

นับตั้งแต่การรุกรานอย่างเต็มรูปแบบเกิดขึ้น พลเรือน 18,995 คนถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บ และอีก 17.6 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือและการคุ้มครองด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน ในปีที่แล้วสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกได้ดำเนินการช่วยเหลือและให้การสนับสนุนยูเครนและประชาชนยูเครนเป็นงบประมาณรวมทั้งสิ้นกว่า 6.7 หมื่นล้านยูโร

ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนานาชาติยังปรากฏชัดในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งที่ประชุมได้รับรองมติสำคัญซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างสันติภาพเพื่อเป็นหลักประกันว่ายูเครนจะมี “อำนาจอธิปไตย เอกราช เอกภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดน” เสียงข้างมากอย่างท่วมท้นลงมติเห็นชอบกับมติดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยด้วย

นายไลซัค โอเล็กซานเดรอ อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทย กล่าวว่าสงครามครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวกับยูเครนเท่านั้น การโจมตีที่โหดร้ายของรัสเซียทำลายความมั่นคงของโลกและทำให้ทุกประเทศตกอยู่ในอันตราย สงครามนี้จะต้องจบลงด้วยชัยชนะของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ ความยุติธรรมจะต้องกลับคืนสู่ยูเครน ยุโรป และทั่วโลก ยูเครนยังคงต่อสู้เพื่อเสรีภาพต่อไป โดยพวกเราจะต่อสู้ตราบเท่าที่จำเป็นกับการรุกรานของรัสเซีย และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องชนะสงครามครั้งนี้ ยูเครนได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าเราจะไม่ยอมรับข้อเสนอสงบศึกไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม จะไม่มีการทำความตกลงใดที่มีผลให้ดินแดนของยูเครนยังถูกยึดครอง และทำให้ประชาชนตกอยู่ภายใต้ความเมตตาของผู้รุกราน จะต้องหยุดการกระทำของรัสเซียโดยทันที เพราะการเข้าข้างผู้รุกรานจะนำไปสู่ความเลวร้ายในที่อื่นๆ

ด้านนายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวสรุปงานว่า “เรายังคงแน่วแน่ในคำมั่นสัญญาของเราที่มีต่อชาวยูเครนและระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนพื้นฐานของกติกา และเราขอประณามการรุกรานทางทหาร ในฐานะประธานสภาสหภาพยุโรปในปัจจุบัน สวีเดนได้จัดงานนี้ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปและสถานทูตยูเครน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงของมนุษย์ที่ผู้รุกรานก่อขึ้น ยูเครนและประชาชนยูเครนมีสิทธิที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง และเราจะยืนหยัดอยู่กับพวกเขาไม่ว่าจะนานเพียงไร”.

© 2021 thairemark.com