นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยเปิดเผยว่า เดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ จะมีแรงงานเด็กจบการศึกษาใหม่เข้าสู่ระบบอีก 500,000 คน เข้ามาสมทบกับแรงงานเด็กจบใหม่ก่อนหน้านี้ ที่ยังหางานไม่ได้ จึงต้องแข่งขันกันสูงเพื่อหางานทำ ท่ามกลางความผันผวนเศรษฐกิจ โดย “เด็กจบใหม่ หากจบการศึกษาเฉพาะด้าน เช่น ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ การแพทย์ ฯลฯ ยังหางานได้ไม่ยาก แต่จบปริญญาตรีทั่วไปคงลำบาก เพราะตามปกติ ช่วงต้นปี หลังรับโบนัส แรงงานจะย้ายงานเยอะ แต่ปีนี้มีน้อยมาก แสดงว่างานหายากขึ้น”
สำหรับตลาดแรงงานรองรับเด็กจบใหม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นระดับปริญญาตรี คือ ภาคการผลิตและส่งออก แต่การส่งออกไทยปี 66 คาดจะโตเพียง 1-2% จากปี 65 เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและบริการจะฟื้นตัว ประเมินว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอาจแตะ 28 ล้านคน แต่ภาคท่องเที่ยวยังขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะ และมีแนวโน้มที่ตลาดส่วนนี้จะใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะร้านอาหาร ค้าปลีก นอกจากนี้ ระบบการขายได้เปลี่ยนไปสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น ทำให้ระยะยาวตลาดแรงงานส่วนนี้จะลดลง
“ข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติไตรมาส 4 ปี 65 มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.14 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.59 ล้านคน ผู้ว่างงาน 460,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% แม้ภาวะว่างงานจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและเริ่มฟื้นตัว แต่ตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน ที่มี 2.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 65 แม้ไม่ตกงาน แต่มีรายได้ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน จึงอาจทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพทั้งครัวเรือน สะท้อนความเปราะบางของการจ้างงาน”
นายธนิต กล่าวอีกว่า ปัญหาแรงงานไทยที่น่ากังวล คือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ หมายถึงสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นแตะ 14% ของประชากรทั้งหมดในปี 65 เพราะอัตราการเกิดต่ำลงต่อเนื่อง และหากยังมีอัตราการเกิดต่ำต่อเนื่อง ไทยจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด ภายใน 9 ปี เร็วกว่าญี่ปุ่นที่ใช้เวลา 11 ปี ซึ่งจะกระทบต่อตลาดแรงงานในเร็วๆนี้.