Friday, 26 April 2024 - 2 : 53 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

บทสะท้อน ‘ปัญหารุกป่า’ คนจน โดนคดี – คนรวย รอด เอาผิดไม่ได้ จี้รัฐต้องคุ้มครองดูแลคนไทยดั้งเดิม

แสงเดือน ตินยอด วัย 55 ปี ชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง ที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมของตนเองตลอดมา ต่อมามีการประกาศป่าสงวนทับที่ทำกินของเธอ แต่กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยได้โดยให้สิทธิ สทก. 1 และมีการมาส่งเสริมให้เธอปลูกยางพาราในพื้นที่ 10 ไร่

กระทั่งวันหนึ่งมีเจ้าหน้าที่มาตัดฟันต้นยางพาราทิ้ง เมื่อเธอเรียกร้องสิทธิก็ถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกป่า จนมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาให้แสงเดือนมีความผิดที่บุกรุกป่าสงวน โดยให้จำคุก 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา และเสียค่าปรับอาญา 50,000 บาท ค่าเสียหายทางแพ่ง 400,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5

แสงเดือน ตินยอด วัย 55 ปี ชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง

ก่อนหน้ามีคำพิพากษากรณีแสงเดือนไม่นาน ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี พิพากษา​ให้ นายตะเปาะ งามยิ่ง ชดใช้เงิน 67,000 บาทพร้อม​ดอกเบี้ย​อัตรา​ร้อยละ​ 7.5 ​ต่อปี จากข้อหาบุกรุกป่า

นายตะเปาะ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ คล้ายพระของชาวกะเหรี่ยง เรียกกันว่า เจ้าวัด เกิดและเติบโตที่บ้านองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีหลักฐานเป็นเอกสารว่าหมู่บ้านนี้ปรากฏมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างน้อย ต่อมาถูกป่าสงวนประกาศทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน

ในปี 2548 เจ้าวัดตะเปาะที่ร่างกายไม่แข็งแรง มือและแขนหงิกงอไม่สามารถทำงานได้ ถูกจับพร้อมของกลางคือ จอบ 1 เล่ม เพื่อปลูกข้าวไร่แบบไร่หมุนเวียนไว้กินในครอบครัว จำนวน 2 ไร่ และถูกตัดสินว่ามีความผิด ทั้งที่มีหลักฐานว่าอาศัยอยู่มานานนับร้อยปี และปัจจุบันป่าฟื้นสภาพสมบูรณ์จนไม่เห็นความเสียหายแล้ว

และเมื่อต้นเดือนตุลาคม อัยการจังหวัดเพชรบุรี สั่งฟ้องเด็กที่อายุไม่เกิน 18 ปี 2 คน ที่ติดตามผู้ปกครองซึ่งเป็นกะเหรี่ยงดั้งเดิม ขณะเดินทางกลับไปอยู่อาศัยในบ้านบางกลอยบนพื้นที่ดั้งเดิมที่บรรพบุรุษรวมถึงเด็กทั้งสองเกิดและเติบโตมา ในข้อหาบุกรุกแผ้วถางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

โดยเมื่อปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกเผาทำลายบ้าน ยุ้งฉาง ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน จนชาวบ้าน นำโดย ปู่คออี้ มีมิ ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์เป็นคดีในศาลปกครอง จนศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทำผิดกฎหมายให้ชดใช้ผู้ที่ถูกเผาบ้าน และชุมชนบางกลอยบนและใจแผ่นดินเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง

แต่เมื่อชาวบ้านยกครอบครัวเดินทางกลับไปเพื่ออยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมคือบางกลอยบน กลับถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอุ้มขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมา โดยบอกว่าจะช่วยเหลือเรื่องที่อยู่ที่ทำกิน แต่กลับแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านรวมทั้งเด็กๆ สุดท้ายอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องเด็กๆต่อศาลด้วย

ในขณะที่เมื่อเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบริษัทและบุคคลที่บุกรุกแผ้วถางป่า และยึดครองพื้นที่ป่า 6,229 ไร่ เนื่องจากพบว่ามีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)

เหตุการณ์เกิดเมื่อปี 2561 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานได้เข้าตรวจสอบและตรวจยึดบริเวณสวนเกษตรภูเรือ ในอำเภอภูเรือ และอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย จำนวน 6,229 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สนามกอล์ฟ และโรงแรม/บ้านพักตากอากาศโรงผลิตไวน์ ของบริษัทตระกูลดัง ต่อมาพบว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มาก่อน จำนวน 147 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 6,229 ไร่

ขณะที่ทุนและบุคคลภายนอกสามารถมีเอกสารและใช้พื้นที่ป่าหลายพันไร่ โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้ แต่ประชาชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่มาเนิ่นนานก่อนมีการประกาศพื้นที่ป่า และทำกินเพียงเล็กน้อยตามวิถีชีวิต กลับถูกดำเนินคดี

ปัจจุบันมีประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเดิมกว่า 10 ล้านคน เป็นเนื้อที่กว่า 20 ล้านไร่ คิดเป็นชุมชนกว่า 3,000 ชุมชน

ปัญหาประชาชนไม่มีที่ทำกินเป็นปัญหาสำคัญ แต่พบว่าคณะรัฐมนตรีกลับอนุญาตให้บริษัทอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ใช้พื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง เอ เพื่อระเบิดหินไปใช้ในอุตสาหกรรมได้ ทำให้ภูเขาหายไปเป็นลูกและมลพิษทางอากาศและเสียงตามมา

ทั้งกรณีเหมืองหินที่ตัวเมืองกาญจนบุรี ติดแม่น้ำแม่กลอง ใกล้กับสถานที่ราชการสำคัญ เช่น ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด จวนผู้ว่าราชการจังหวัด เคยมีการระเบิดหิน จนมีผลให้กระจกศาลจังหวัดแตกมาแล้ว เมื่อหมดประทานบัตร แทนที่จะเข้าฟื้นฟูสภาพแวดล้อม กลับมีการต่อประทานบัตรให้ทำเหมืองหินต่อไปอีก

กับชาวบ้านที่อยู่มาเนิ่นนาน กลับมีความพยายามยึดพื้นที่ของชาวบ้าน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมชาวบ้านที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ร้องเรียนถึงรองนายกรัฐมนตรี ประวิตร วงษ์สุวรรณ กรณีจะมีการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านจำนวน 24,513 ไร่

รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่นำความสงบสุขมาให้ประชาชนและทำงานเพื่อประชาชน แต่ดูเหมือนนโยบายและการปฏิบัติเรื่องการใช้พื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชนที่ผ่านมาเป็นไปทางตรงกันข้าม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนคนดั้งเดิมสามารถอยู่อาศัยและทำงานอย่างปกติสุขได้

บทความโดย : สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความแห่งประเทศไทย

© 2021 thairemark.com