Friday, 19 April 2024 - 4 : 18 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

เตรียมควักงบกลาง 2.3 หมื่นล้านบาท ฟื้นฟูน้ำท่วม-คืนชีพคนละครึ่ง-เที่ยวด้วยกัน กระตุ้นเศรษฐกิจ

รัฐบาลเตรียมใช้งบกลางฯ 23,000 ล้านบาท เยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำท่วม 6,000 ล้านบาท และอีก 17,000 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี คาดได้เห็นคนละครึ่งและเราเที่ยวด้วยกันกลับมาใช้อีก หลังนายกฯเห็นว่าใช้ได้ผลดี ขณะที่ ครม.อนุมัติโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามันกว่า 5 พันล้านบาท ช่วยเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพปีละ 62,000 ล้านบาท

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณจัดทำวงเงินงบประมาณการเบื้องต้น ที่จะใช้ในการเยียวยาประชาชนจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะดำเนินการในช่วงปลายปี และโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยประมาณวงเงินที่ต้องใช้ทั้งสองส่วนที่จำนำงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไว้ที่ 23,000 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินใช้เยียวยาน้ำท่วม 6,000 ล้านบาท และเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 17,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ส่วนแรกตั้งวงเงินไว้ 6,000 ล้านบาทสำหรับเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยยึดตามมติ ครม. วันที่ 8 ส.ค.2560 ที่จ่ายให้กับครัวเรือนที่ประสบภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท จำนวน 2 ล้านครัวเรือน โดยวงเงินเยียวยาอุทกภัยในส่วนนี้ยังไม่ได้รวมในส่วนการชดเชยเกษตรกรที่พืชผลและปศุสัตว์เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย จะสำรวจความเสียหายอีกครั้ง ส่วนที่ตั้งงบกลางในส่วนนี้ไว้ไม่สูงมาก เนื่องจากเป็นช่วงต้นปีงบ ประมาณกระทรวงต่างๆสามารถโยกงบประมาณหรือเปลี่ยนแปลงโครงการต่างๆเพื่อมาใช้ในการซ่อมแซมถนน สะพาน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายได้

ส่วนที่สองอีก 17,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้นำมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี และในช่วงหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วม คลี่คลายแล้ว โดยเบื้องต้นนายกฯต้องการให้ดำเนินโครงการที่เคยใช้แล้วได้ผลในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น

นายเฉลิมพลกล่าวว่า ในปี 2566 รัฐบาลมีงบกลางรายการใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นกรณีเร่งด่วน รวมประมาณ 92,400 ล้านบาท โดยปกติแล้วจะมีการใช้วงเงินเพื่อเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมประมาณปีละ 20,000-30,000 ล้านบาท ส่วนกรณีที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้จะต้องขอใช้งบกลางฯเนื่องจากในปี 2566 ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ และไม่สามารถใช้วงเงินกู้สำหรับโควิด-19 ได้อีก เพราะตามกฎหมายระบุให้ต้องพิจารณา การใช้เงินภายใน วันที่ 30 ก.ย.2565 เท่านั้น

วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบโครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน จังหวัดภูเก็ต วงเงินงบ 5,116 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2566-2570) โดยขอผูกพันงบประมาณ ดังนี้ คือปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 1,291 ล้านบาท ปี 2567 วงเงิน 1,656 ล้านบาท ปี 2568 วงเงิน 1,476 ล้านบาท ปี 2569 วงเงิน 498 ล้านบาท ปี 2570 วงเงิน 193 ล้านบาท เพื่อเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ แพทย์ทางเลือก และอื่นๆ และเป็นสถานที่ทำการวิจัยพัฒนาด้านวิชาการด้านสาธารณสุข เป็นสถานพยาบาลขั้นตติยภูมิและเฉพาะทางเป็นหลัก โดยสามารถรักษาโรคระดับต้นและโรคซับซ้อน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย

โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ คือ มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ขนาด 300 เตียง ให้บริการผู้ป่วยโรคซับซ้อนชาวไทยไม่น้อยกว่า 12,500 คนต่อปี ผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 300,000 คนต่อปี มีรายได้จากการรักษาชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 1,600 ล้านบาทต่อปี มีศูนย์ทันตกรรมที่ทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้และมีรายได้จากการให้บริการชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกันยังผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่สำเร็จตามหลักสูตรปีละ 110 คน อบรมทักษะต่างๆตามความต้องการของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1,000 คนต่อปี ลดการไปรักษาโรคในพื้นที่อื่นไม่น้อยกว่า 13,500 ครั้งต่อปี ประหยัดเงินไม่น้อยกว่า 135 ล้านบาทต่อปี เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 10% ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น 62,000 ล้านบาทต่อปี.

© 2021 thairemark.com