Thursday, 28 March 2024 - 4 : 19 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

AP ตั้งเป้าปีวัวทองรับรู้รายได้ 43,100 ล้าน

AP กางแผนงานปี 64 ตั้งเป้าปูพรม 147 โครงการทั่วไทย มูลค่าพร้อมขายกว่า 121,890 ล้านบาท เป้ารับรู้รายได้ 43,100 ล้านบาท ส่วนยอดขายที่ 35,500 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2564 นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด มหาชน หรือ AP กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงทั้งเชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคม และที่แย่ที่สุด คือ เปลี่ยนการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งทุกอย่างจะไม่กลับเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว ซึ่งวันนี้วัคซีนเข้ามาในไทยแล้ว แน่นอนว่าวัคซีนถือเป็นแสงเห็นความหวัง แต่คงต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ สิ่งที่เราทุกคนต้องระวังมากที่สุดตอนนี้คือ Ripple Effect หรือปรากฏการณ์ระลอกคลื่นที่ศูนย์กลางก็คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเวลาในการฟื้นตัวที่ต้องลากยาวออกไปอีกหลายปี โดยการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 2 ปี ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เคยสมมติฐานเกี่ยวกับประเทศไทยที่คาดการณ์ว่า ปี 2570 เศรษฐกิจไทยจะกลับไปก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด

อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งที่คาดการณ์จะเป็นเพียงตัวเลข แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อให้ตัวเลขกลับไปที่เดิม แต่ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม ความรู้ที่เหมือนเดิมจะเปลี่ยนไป วิธีการเดิมที่เคยทำมาจะเปลี่ยนไป เราต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ

สำหรับ AP เองก็ได้มีการปรับตัวมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา เอพีมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงสุดเกินจากคาดการณ์ ทั้งในมิติรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ กลุ่มคอนโดมิเนียม (100% JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้สูงถึง 46,130 ล้านบาท เติบโตกว่า 42% จากปีก่อนหน้า มีกำไรสุทธิ ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 4,225 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 38% ด้านสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 0.71 เท่า

นายอนุพงษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2564 นี้ AP จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาอยู่ทั่วประเทศมากถึง 147 โครงการ มูลค่าพร้อมขายกว่า 121,890 ล้านบาท โดยเป็นการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้จำนวน 34 โครงการ มูลค่าประมาณ 43,000 ล้านบาท

โดยแบ่งเป็นโครงการแนวราบจำนวน 30 โครงการ มูลค่าประมาณ 28,800 ล้านบาท คอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะพร้อมเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังจำนวน 4 โครงการ มูลค่าประมาณ 14,200 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ระหว่างการขายที่กระจายไปในทุกทำเลทั้งในกทม. และต่างจังหวัดมากถึง 113 โครงการ มูลค่าสินค้าพร้อมขายประมาณ 78,890 ล้านบาท โดยในปี 2564 นี้ AP ตั้งเป้ารับรู้รายได้ (รวม 100% JV) 43,100 ล้านบาท และเป้ายอดขายที่ 35,500 ล้านบาท

ด้านนายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป กล่าวว่า เมื่อปี 63 ที่ผ่านมาเราได้ขยายโครงการไปยังต่างจังหวัด โดยทดลองทำโครงการแนวราบ 3 แห่งได้แก่ ขอนแก่น โคราช และระยอง ซึ่งปิดยอดขายของทั้ง 3 โครงการประมาณ 480 ล้าน จังหวัดขายดีสุดคือ ขอนแก่น ขายได้ประมาณ 18% โคราช 11% และระยอง 8%

อย่างไรก็ตาม ทาง AP ไม่ได้กังวลหรือห่วงเรื่องสต๊อกที่สร้างไว้นาน เพราะคำนวณตามดีมานด์ที่มีอยู่ หากมีดีมานด์เข้ามา AP ก็จะเริ่มก่อสร้างบ้านให้กับลูกค้า และปีนี้เราได้เพิ่มโครงการในอีก 2 จังหวัด คือ อยุธยา และเชียงราย ซึ่งยอดขายก็อยู่ที่ประมาณ 10%

สำหรับการมองหาตลาดใหม่ๆ นั้น AP เราถนัดทำในโครงการในช่วงราคา 3-10 ล้าน ทั้งแนวราบและแนวสูง ปัจจุบันเราก็เห็นโอกาสว่าจริงๆ แล้วในแง่ซัพพลายที่หายไปในตลาด ก็คือราคาต่ำกว่า 3 ล้าน เราก็ศึกษาในภาพรวมของตลาดอยู่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ส่วนตลาดที่ราคามากกว่า 10 ล้านขึ้นไป AP มองว่า ซัพพลายในส่วนนี้เริ่มหายไปจากตลาด แต่ดีมานด์ยังมีอยู่ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะเจาะตลาดอสังหาฯ ที่กว้างมากขึ้น

เผย 3 ยุทธศาสตร์เป็นเบอร์ 1 ในอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย

  1. สร้างผู้นำอิสระเพิ่มโอกาสในการแข่งขันที่มากกว่า (Create Independent Responsible Leaders) องค์กรจึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสูงยิ่งในสภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่มากขึ้น บริษัทฯ จึงให้เดินหน้าสร้างบทบาทของผู้นำในโลกยุคใหม่ ให้เป็น ผู้นำที่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อตนเอง ลูกค้า คู่ค้า และเพื่อนร่วมงานดำเนินงาน
  2. การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม (INNOVATIVE CULTURE) การที่พนักงานเอพี ทุกคนจะสามารถสร้างและจัดหาสินค้าหรือบริการที่เกื้อหนุนให้ผู้คนในสังคม สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการด้วยตนเองนั้น สมาชิกทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะทำหน้าที่ในบทบาทใด หรือรับผิดชอบเรื่องใด พวกเขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้น
  3. พลิกเกมธุรกิจเดินหน้าเต็มลูป ทรานฟอร์มทุกมิติด้วยดิจิทัล (eVERYTHING DIGITAL) อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรคือ การนำทุกมิติของการดำเนินงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบองค์รวม (Holistic Digital Management) ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับลูกค้า พาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกับเอพี หรือพนักงาน

ทั้งนี้ เป็นรากฐานสนับสนุน 2 ยุทธศาสตร์ข้างต้น เพื่อการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว และตอบสนองลูกค้า ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องมีข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ค้นหา Unmet Need ของลูกค้าได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

© 2021 thairemark.com