กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต และสมาคมเพอรานากัน ประเทศไทยเชิญชวนร่วมงานฉลอง ต้มยำกุ้ง – เคบายา มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ชมขบวนแห่สุดตระการตา รับฟังการเสวนา เคบายาและต้มยำกุ้งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ของมวลมนุษยชาติโดย นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อาจารย์สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม นายสมศักดิ์ โสภานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และคุณปอย ตรีชฎา ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีส่วนในการร่วมสืบสานชุดแต่งกาย เคบายา ดำเนินรายการโดย นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากันประเทศไทยชมแฟชั่นโชว์ชุด เคบายา สวยงามประทับใจชาวไทยและต่างชาติ สร้างกระแสให้ทุกภาคส่วนร่วมสืบสานต่อยอดมรดกวัฒนธรรมให้ยั่งยืน
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต และสมาคมเพอรานากัน ประเทศไทย จัดงานเฉลิมฉลองการได้รับประกาศเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของ “ต้มยำกุ้ง” และชุดแต่งกาย “เคบายา” โดยองค์การยูเนสโก ในพิธีเปิดงาน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้เกียรติเป็นประธาน โดยมี นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
พร้อมผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมด้วย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต นางสาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กงสุลกิตติมศักดิ์ นายกสมาคมเพอรานากันประเทศไทย ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ประธานมูลนิธิเมืองเก่าภูเก็ต และผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรเอกชน ร่วมเป็นสักขีพยานณ ภัตตาคารบลูอิเลฟเฟ่นภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
นายโสภณ ประธานได้กล่าวแสดงความยินดี ในงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา ว่า เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งสำหรับประเทศไทย ที่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ได้รับการประกาศยกย่องขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 2 รายการ ได้แก่ “ต้มยำกุ้ง” และ ชุดแต่งกาย “เคบายา” โดยองค์การยูเนสโก
“ต้มยำกุ้ง” สำหรับชาวไทยคงทราบกันดีว่าเป็นอาหารไทยจากภูมิปัญญาที่ประณีต และแพร่หลายในทุกภาค มีทั้งชนิดน้ำข้นและน้ำใส เป็นอาหารสุขภาพที่มีสารอาหารครบทั้งห้าหมู่ ช่วยเจริญอาหารได้เป็นอย่างดี การได้รับยกย่องในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนชาวไทย ทั้งในส่วนผู้ประกอบอาหาร และผู้บริโภคต่างเกิดความภาคภูมิใจ และทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็จะสนใจหาชิมต้มยำกุ้งกันมากขึ้น สร้างรายได้และเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากชาวประมงจนถึงผู้ประกอบกิจการอาหาร และผู้ที่เป็นแรงงานในกิจการดังกล่าว
ส่วนชุดแต่งกาย “เคบายา” เป็นวัฒนธรรมร่วมของห้าประเทศ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของชุมชนไทยจรดแหลมมลายู ที่มีมากว่า ๔๐๐ ปี “เคบายา” เป็นชุดที่ก้าวผ่านกาลเวลา เชื่อมรอยต่อของชุมชนต่าง ๆทั้งชาวไทยพุทธ มุสลิม จีน ชวา และเพอรานากัน มีความงดงามที่เกิดจากการร่วมกันสร้างสรรค์ของสตรีในชุมชนต่าง ๆในวาระแห่งการฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล)ในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการรักษาและสืบทอด รายการมรดกภูมิปัญญาฯ “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา”
โดย ๑. ประเทศไทย จะร่วมกันธำรงรักษา ถ่ายทอด และสร้างสรรค์มรดกภูมิปัญญาให้มีการปฏิบัติและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยมาตรการส่งเสริมและรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความเคารพและยอมรับต่อวิถีปฏิบัติของทุกชุมชน ๒. จะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่า และความสำคัญของมรดกภูมิปัญญา ในฐานะตัวแทนมรดกวัฒนธรรมฯ ซึ่งสะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และบ่อเกิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน ๓. จะเปิดโอกาสอย่างทั่วถึงแก่คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศ ทุกภาษาและทุกศาสนา ให้ร่วมกันส่งเสริม รักษา และสืบทอดมรดกภูมิปัญญา
ทั้ง 2 รายการ ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยเคารพต่อธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน ด้วยความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนไทย ร่วมกันดำเนินการในทุกวิถีทางอย่างเต็มความสามารถ ให้เจตนารมณ์ทั้ง ๓ ข้อ บรรลุผลสัมฤทธิ์ เพื่อสนับสนุนให้มรดกภูมิปัญญา “ต้มยำกุ้ง” และ “เคบายา” ดึงดูดให้ผู้คนจากทุกมุมโลกเข้ามาในประเทศ ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการให้บริการ ด้วยการพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรม” ต่อไป
ทั้งนี้ บรรยากาศในพิธีเปิดงานฉลองฯ เริ่มด้วยการแสดงดนตรี จากนั้น ประธานกล่าวแสดงความยินดี และรับฟังการเสวนา เคบายาและต้มยำกุ้งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ของมวลมนุษยชาติโดย นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อาจารย์สาวิตรี สุวรรณสถิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม นายสมศักดิ์ โสภานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นพ.โกศล แตงอุทัย นายกสมาคมเพอรานากันประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ชมการแสดงแฟชั่นโชว์ ชุดเคบายา โดย สมาคมเพอรานากัน