Saturday, 2 November 2024 - 3 : 37 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

ส.ประกันโยนผิดวิกฤติประกัน”เจอจ่ายจบ”เหตุคปภ.ไม่ยอมให้ยกเลิกสัญญา

สมาคมประกันวินาศภัยไทยเผยวิกฤติประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ ต้นเหตุ เพราะ คปภ. ไม่ยอมให้ยกเลิกสัญญา

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตจากการรับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ ว่า บริษัทประกันทำตามนโยบายของสำนักงาน คปภ. ที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้บริษัทประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เพื่อออกขายให้ครอบคลุมและกว้างขวางที่สุด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก COVID-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยากต่อการคาดการณ์ จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ ซึ่งตามกฎหมายบริษัทสามารถที่จะยกเลิกสัญญาได้ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายสูงกว่าความคาดหมายมากเกินระดับที่กำหนดไว้ เกิน 10% ของเงินกองทุน

ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 แสดงให้เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนรวมจากการรับประกันภัย COVID-19 มีจำนวนกว่า 37,000 ล้านบาท ในขณะที่เงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้นอยู่ที่ประมาณ 132,000 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบันรวมถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทำให้คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด (ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท ฉะนั้น อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก) และอาจเพิ่มสูงถึง 60%-70% ของเงินกองทุนหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

“จะเห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยความเสี่ยงผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในปี 2563 มีจำนวน 6,884 คน ในขณะที่ในปี 2564 นับจนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อถึง 2,037,241 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 296 เท่าหรือ 29,600% สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2563 นั้นมีจำนวน 61 คน ในขณะที่ผู้เสียชีวิตในปีนี้มีถึง 20,193 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 331 เท่าหรือ 33,100%” นายอานนท์ กล่าว

“เงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกเปรียบเสมือนเป็นระบบเซฟทีคัทในบ้านทุกหลัง หรือระบบเบรกในรถยนต์ทุกคัน เพื่อจะใช้ตัดไฟหรือหยุดรถในยามฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดเหตุวิกฤต ผมขอเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ลองนึกถึงรถที่บรรทุกผู้โดยสารอยู่เต็มคันรถวิ่งจากกรุงเทพไปเชียงราย แต่ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายและไม่มีความพร้อมที่จะเดินทางต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดรถเพื่อซ่อมแซมให้เกิดความปลอดภัย แต่มีคนมาสั่งการให้เอาระบบเบรกออกและสั่งให้รถวิ่งต่อไป ซึ่งทางข้างหน้าเป็นทางที่อันตราย และรถก็ไม่มีระบบเบรกแล้ว เช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายถึงชีวิตทั้งกับคนขับ ผู้โดยสาร และผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นได้” นายอานนท์ กล่าว

นายอานนท์ กล่าวว่า หลังจากพิจารณาแนวทางทั้งหมดที่เป็นไปได้แล้ว ได้มีการกำหนดเกณฑ์ร่วมกันหากจำเป็นต้องมีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ ดังนี้

1) มีอัตราความเสียหายจากการรับประกันภัย COVID-19 ตั้งแต่ 400% ขึ้นไป หรือ
2) มีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัย COVID-19 ตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือ

3) มีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัย COVID-19 เกินกว่าร้อยละ 10 ของเงินกองทุน

สำหรับมาตรการเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ได้มีการพิจารณาร่วมกัน มีดังต่อไปนี้

1) ได้รับเบี้ยประกันภัยคืน 100% จากบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิก แทนที่จะได้รับเบี้ยคืนตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ

2) เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย (ภาวะโคม่า) ด้วยทุนประกันภัย 5 เท่าของวงเงินความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่ถูกบอกเลิก หรือ

3) เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกันภัย 10 เท่าของวงเงินความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่ถูกบอกเลิก หรือ

4) นำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนตามข้อ 1) มาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆ ของบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิก โดยจะได้รับส่วนลดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2 เท่าของเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนการบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงระบบและเสถียรภาพของระบบประกันวินาศภัย

© 2021 thairemark.com