คปภ. เผยผลการประเมินความทนทานภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจำลอง (Stress Test) บริษัทประกันภัย มีฐานะความมั่นคงทางการเงินในระดับที่ปลอดภัย และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกำหนดมาตรการเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด จากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างเต็มพิกัด
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบประกันภัย และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัย ได้ดำเนินการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย เพื่อลดโอกาสในการเกิดความเสี่ยง และความรุนแรงของความเสี่ยงภายในธุรกิจประกันภัย เนื่องจากธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของภาคการเงินเช่นเดียวกันกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจหลักทรัพย์ จึงได้มีการร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ในการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงและประเมินความเสี่ยงต่อภาคการเงินโดยรวมอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในกิจกรรมการประเมินความเสี่ยงต่อภาคการเงินโดยรวมที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกปี ได้แก่การประเมินความทนทานของระบบการเงินภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจำลอง (Stress Test) ซึ่งใช้สถานการณ์และค่าพารามิเตอร์ที่กำหนดร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคการเงินจากการเผชิญกับสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจำลองที่กำหนด
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง สำนักงาน คปภ. จึงนำสถานการณ์ดังกล่าวมาเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบ ไม่ใช่เฉพาะต่อการดำเนินธุรกิจของภาคการเงินเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนอีกด้วย ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดสถานการณ์ที่ใช้ในการจัดทำ Stress Test โดยเน้นเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินจากการระบาดของ COVID-19 ในช่วง 1–3 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2564–พ.ศ. 2566) และได้กำหนดสถานการณ์ใน 2 ระดับความรุนแรง คือ
- ระดับความรุนแรงปานกลาง (moderate scenario) โดยตั้งสมมติฐานให้มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในปี 2564 และจากการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ทำให้สามารถควบคุมการระบาดและทำให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติในปี 2565 และ
- ระดับความรุนแรงสูง (severe scenario) โดยตั้งสมมติฐานให้ในปี 2564 เชื้อ COVID-19 เกิดการกลายพันธุ์และส่งผลให้วัคซีนที่มีการพัฒนาขึ้นในปัจจุบัน ไม่สามารถใช้ในการป้องกันการระบาดของไวรัสพันธุ์ใหม่นี้ได้ โดยทั่วโลกใช้เวลาในพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่เพื่อป้องกันการระบาดของ COVID-19 ที่มีการกลายพันธุ์ได้สำเร็จในช่วงปลายปี 2565 และจะเริ่มทำการกระจายและฉีดวัคซีนชนิดใหม่นี้ในช่วงต้นปี 2566
ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 มีความเกี่ยวพันกับธุรกิจประกันภัยในระดับสูง ดังนั้น นอกจากผลกระทบต่อปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเงินแล้ว สำนักงาน คปภ. ร่วมกันกับสมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) สมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) และสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย (SOAT) ได้กำหนดเพิ่มผลกระทบต่อปัจจัยด้านประกันภัยเป็นพิเศษสำหรับการจัดทำ Stress Test ของบริษัทประกันภัย เพื่อให้การประเมินความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัยมีความเข้มข้นมากขึ้น
จากผลการทดสอบดังกล่าวพบว่า ธุรกิจประกันภัยโดยรวมทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย สามารถทนทานต่อสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจำลองที่กำหนดขึ้นได้ ทั้งในกรณี moderate scenario และ severe scenario โดยในด้านของฐานะความมั่นคงทางการเงิน พบว่า สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคจำลองที่กำหนดขึ้นส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในภาพรวมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าผลกระทบดังกล่าวอาจมีระดับสูงขึ้นสำหรับบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยที่มีการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพในสัดส่วนที่สูง แต่บริษัทเหล่านี้ยังคงมีฐานะความมั่นคงทางการเงินในระดับ ที่ปลอดภัยและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ในด้านของสภาพคล่อง พบว่า ธุรกิจประกันภัยในภาพรวมยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้คำนึงถึงความไม่แน่นอนของปัจจัยด้านสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และปัจจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการเงิน ดังนั้น เพื่อให้สามารถประเมินเสถียรภาพของระบบประกันภัยได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและให้ระยะเวลาการปรับตัวกับธุรกิจประกันภัย สำนักงาน คปภ. จะได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเงินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในระดับสูง ได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย Spread ของหุ้นกู้ และราคาตราสารทุน รวมถึงสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และการฉีดวัคซีนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หากในกรณีที่เห็นว่าสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานการณ์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจต่อเนื่องเป็นยาวนาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยรุนแรงกว่าสถานการณ์ที่ใช้ทดสอบในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ.จะกำหนดให้บริษัททำการทดสอบ Stress Test เพิ่มเติม เพื่อประเมินความทนทานและเสถียรภาพของระบบประกันภัยอีกครั้ง
“จากผลการทดสอบ Stress Test ที่ได้รับในครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยทราบข้อมูลว่าธุรกิจประกันภัยไทยยังมีความแข็งแกร่งแม้ในสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงของ COVID-19 ในปัจจุบัน จึงสามารถมั่นใจได้ว่าระบบประกันภัยยังมี ความพร้อมที่จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย