Saturday, 12 October 2024 - 2 : 44 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

คปภ.ผนึกพลังต่อต้านคอร์รัปชัน

คปภ. จับมือ IOD ติวเข้มบุคลากร คปภ. ทั่วประเทศ เตรียมพร้อมเพื่อนำพาภาคอุตสาหกรรมประกันภัย เป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทยอย่างยั่งยืน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการอบรม “CAC Briefing” พร้อมทั้งมอบนโยบายตามโครงการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต Collective Action Coalition Against Corruption (CAC) ของสำนักงาน คปภ. และการส่งเสริมให้ทุกฝ่ายกำหนดนโยบายและวางแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ โดยมีผู้บริหารผู้บริหาร และพนักงานทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ร่วมฟังบรรยายผ่านระบบ Video Conference ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ในฐานะเลขานุการ CAC เป็นผู้ถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ CAC


เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าว ตอนหนึ่ง ว่าปี 2564 เป็นอีกปีหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมใจกันให้ความสำคัญในเรื่องธรรมาภิบาล การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสไร้การคอร์รัปชัน โดยสำนักงาน คปภ. ได้มีนโยบายให้ความสำคัญและสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของสำนักงานฯ เพื่อป้องกันการทุจริตมาโดยตลอด ประกอบกับตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ได้กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและเข้าร่วมรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) โดยใช้แนวทางและเครื่องมือตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) กำหนด ซึ่งสำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้เข้าร่วมการประเมินและให้ความร่วมมือมาโดยตลอด เพื่อให้องค์กรและบุคลากรมีความเข้าใจที่ถูกต้องตลอดจนประพฤติปฏิบัติในเรื่องคุณธรรมและมีความโปร่งใสในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ CAC เป็นความริเริ่มของภาคเอกชนไทยในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมุ่งสร้าง และขยายแนวร่วมในภาคเอกชนเพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ กําหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการปฏิเสธการรับ และจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ซึ่งเห็นว่าเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ดังนั้น เมื่อไม่มีการจ่ายสินบนหรือทุจริตคอร์รัปชัน ก็เป็นโมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่กำลังเกิดขึ้น จึงสมควรที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและสนับสนุน

สำหรับภาคธุรกิจประกันภัยนั้น มีบริษัทประกันภัยบางบริษัทได้เคยเข้าร่วมการประเมินตนเอง และยื่นขอรับรองเป็นครั้งแรก และมีบางบริษัทได้ผ่านการต่ออายุการรับรอง (Re-Certification) เป็นครั้งที่สองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกระบวนการประเมินตนเอง มีการสอบทานและลงนามรับรองโดยประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท หรือผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก ว่าบริษัทมีการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้ รวมทั้งการกำหนดนโยบายและระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบนของบริษัทประกันภัย ได้สะท้อนให้เห็นว่าภาคธุรกิจประกันภัยมีความตื่นตัวและตระหนักในเรื่องการต่อต้านการคอร์รัปชันเป็นอย่างยิ่ง

“การจัดอบรมในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ในการสร้าง Good Governance รวมทั้งการกำหนดเกณฑ์การให้คะแนนสำหรับรางวัล ESG และกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะสนับสนุนในเรื่องการสร้างความโปร่งใส ไร้คอร์รัปชันกับภาคธุรกิจประกันภัยต่อไป ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคน พร้อมที่จะขับเคลื่อนสำนักงานฯ และนำพาภาคธุรกิจประกันภัยไปข้างหน้าอย่างมีธรรมาภิบาล มีจุดยืนในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัยที่ถูกต้อง โปร่งใส ไร้การทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและสร้างความมั่นคงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวมด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

© 2021 thairemark.com