ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ประชุมหารือร่วมกับสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการขับเคลื่อนระบบประกันภัยควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการของสถานพยาบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านการรักษาพยาบาลที่ดี มีคุณภาพ ปลอดภัย และผ่านมาตรฐานการรับรองกระบวนการคุณภาพ (Healthcare Accreditation : HA) ซึ่งจะทำให้ผู้เอาประกันภัยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลโดยสำนักงาน คปภ. เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการใช้บริการในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเลือกปฏิบัติของโรงพยาบาลระหว่างผู้ป่วยที่ทำประกันภัยสุขภาพกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำประกันภัยสุขภาพ และจะช่วยลดปัญหาข้อพิพาทด้านการประกันภัย รวมทั้งการฉ้อฉลประกันภัย
ทั้งนี้การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ผ่านมาตรฐานการรับรองกระบวนการคุณภาพ (Healthcare Accreditation : HA) จากสรพ. ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายในการประเมินและรับรองระบบบริการสุขภาพของสถานพยาบาลซึ่งได้รับการรับรองมาตฐาน การดำเนินงาน และการพัฒนาผู้ตรวจประเมิน โดยองค์กรระหว่างประเทศในระดับสากล 1 ใน 13 ประเทศทั่วโลก นำมาซึ่งความน่าเชื่อถือและไว้วางใจในระบบบริการของสถานพยาบาล จึงเป็นที่มาที่สำนักงาน คปภ. โดยเลขาธิการ คปภ. และ สรพ. โดยพญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 โดยมีผู้บริหารสำนักงาน คปภ.และผู้บริหาร สรพ. ร่วมเป็นสักขีพยาน
เพื่อขับเคลื่อนภารกิจให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ MoU สำนักงาน คปภ.และ สรพ. ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานร่วมกันใน 3 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านแรก ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุน ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ระบบประเมินการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพ (Healthcare Accreditation : HA) การดำเนินการของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ให้แก่ประชาชน ภาคธุรกิจประกันภัย บุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ด้านที่ 2 สำนักงาน คปภ. จะสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัย มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพที่รองรับการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ผ่านมาตรฐานการรับรองคุณภาพ ตลอดจนให้ความร่วมมือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เอาประกันภัยในเรื่องความปลอดภัยของการให้บริการในสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพ (Healthcare Accreditation : HA) อันจะช่วยลดข้อผิดพลาดในการรักษา
และด้านที่ 3 สรพ. จะสนับสนุน ส่งเสริม และผลักดันให้สถานพยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป ได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการให้บริการของสำนักงาน คปภ. และการประกันภัย พร้อมทั้งร่วมมือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาระบบการประกันภัยสุขภาพของประเทศไทยให้มีคุณภาพและสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย เช่น ความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพ ความเสี่ยงภัยด้านความรับผิดของบุคลากรทางการแพทย์ และสถานพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ระบบบริการสุขภาพที่ผ่านมาตรฐานการรับรองคุณภาพ (Healthcare Accreditation : HA) เข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเลือกสถานพยาบาลที่ประชาชนประสงค์จะเข้ารับการรักษาพยาบาล
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า ธุรกิจประกันภัยเป็นหนึ่งใน Stakeholder ที่สำคัญในระบบสุขภาพของไทยในฐานะกลไกงบประมาณที่ซื้อบริการสุขภาพเช่นเดียวกับระบบบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน ทั้งประกันภัยภาคบังคับเพื่อคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากการใช้รถ และประกันภัยภาคสมัครใจ เช่น ประกันภัยสุขภาพต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจประกันภัยมีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้เอาประกันภัยสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพหรือการรักษาพยาบาล และเป็นอีกกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ จากหน่วยบริการที่ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพ (Healthcare Accreditation : HA) ในระดับสากล
“ด้วยเหตุนี้ สรพ.จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมลงนาม MoU กับสำนักงาน คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ในการขับเคลื่อนคุ้มครองให้ประชาชนได้เข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ได้ผ่านการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน HA ตลอดจนร่วมกันประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านการประกันภัยและด้านการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลแก่ประชาชน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในกิจการประกันภัยด้านสุขภาพในอนาคต” พญ.ปิยวรรณ กล่าว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนาม MoU ในครั้ง มีประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมาตรฐาน HA เปรียบเสมือนเครื่องมือที่เข้ามาช่วยในการกำกับกระบวนการต่าง ๆ ของสถานพยาบาลให้มีคุณภาพและป้องกันข้อผิดพลาดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และจะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติของโรงพยาบาลระหว่าง ผู้ป่วยที่ทำประกันภัยสุขภาพกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำประกันภัยสุขภาพ ตลอดจนปัญหาที่เกิดจากการรักษาพยาบาลที่ไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐาน ดังนั้น หากมีการสนับสนุนให้ผู้เอาประกันภัยเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรอง HA ก็น่าจะเป็นกลไกที่ใช้ควบคุม กำกับมาตรฐานการรักษาเหล่านี้ได้ และจะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือคุ้มครองประชาชน และสร้างความเป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างมีนัยสำคัญ