Monday, 16 September 2024 - 10 : 51 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

แบงก์ชาติส่งซิกยังไม่หยุดขึ้นดอกเบี้ยเหตุค่าเงินบาทยังคงเกิดความผันผวนต่อเนื่อง

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวสัมมนาในหัวข้อ “มองต่างมุมเศรษฐกิจไทย ปี 2566” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะยังชะลอตัว แต่ในแต่ละประเทศมีการเติบโตที่แตกต่างกันออกไป เช่น เศรษฐกิจสหรัฐ จะเติบโต 1.4% ในปี 2566 และในปี 2567 จะเติบโต 1% ซึ่งชะลอลงจากดอกเบี้ยสหรัฐขึ้นมากขึ้นเร็วและยังไม่หยุดขึ้น อาจขึ้นจนถึงกลางปีและยังไม่ลดลงจนถึงสิ้นปีนี้ และเศรษฐกิจยุโรปได้มีปัญหามากจากสงครามรัสเซียกับยูเครน การขาดแคลนด้านพลังงานและสินค้าวัตถุดิบด้วย ขณะที่เศรษฐกิจในเอเชียดีขึ้น โดยเฉพาะของไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อของแต่ละประเทศมีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ซึ่งเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ราคาอาหารและราคาพลังงานไม่สูงมากเท่ากับปีที่ผ่านมาที่เกือบ 100% เงินเฟ้อสูงมาจากราคาค่าไฟ ค่าน้ำมัน อาหารสด แต่เศรษฐกิจปีที่แล้วยังไม่ฟื้นตัวมาก ทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ยังมีน้อย และผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนไปบางส่วนเท่านั้น ทำให้ในปีนี้ผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้นได้ ทำให้เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่โลกผันผวน โดยต้องทำอย่างรอบคอบและชั่งน้ำหนักทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน

“การขึ้นดอกเบี้ยต่างประเทศขึ้นเร็วขึ้นมาก แต่ไทยไม่มีความจำเป็น ที่ผ่านมาดอกเบี้ยไทยค่อนข้างต่ำ ต่ำเป็นประวัติการณ์ ตอนนี้กำลังกลับเข้าสู่ระดับปกติ เพื่อให้มี Policy Space ให้ลดดอกเบี้ยลงไปได้ ถ้าไม่ทำอะไรเลยถ้าเกิดผันผวน นโยบายการเงินจะไม่มีช่องว่างให้ทำได้ โดยยังย้ำการปรับดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ปกติค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้ตลาดผิดไปจากที่คาดไว้”

ขณะที่ข้อเสนอของภาคเอกชน ที่อยากให้ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ้าง ซึ่งจะช่วยภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจได้มากนั้น มองว่า เรื่องนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาเป็นปกติอยู่แล้ว ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้น ยอมรับว่า ปัจจุบันดอกเบี้ยยังไม่ได้อยู่ในระดับปกติ และยังคงอยู่ในขั้นตอนของการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังไม่ได้เข้าอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3%

ส่วนกรณีเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐปรับสูงขึ้นมากว่าที่ตลาดคาด มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยภายในสิ้นปี อาจจะขึ้นและหยุด แต่อาจจะลดปีหน้า ส่งผลให้อัตรา terminal funds rate อาจสูงกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อยเลยมีผลต่อค่าเงิน แต่ มองว่าค่าเงินมีความอ่อนไหวกับตัวเลขเศรษฐกิจเยอะมากกว่าเดิม และการให้สัมภาษณ์ของ FOMC จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แกว่งได้ง่าย และเมื่อค่าเงินดอลลาร์แกว่งก็กระทบประเทศอื่น ขณะที่ค่าเงินบาทยอมรับว่าผันผวนพอสมควร แต่ยังอยู่ในระดับที่ธุรกิจพอใจ

“สำหรับความผันผวนค่าเงินนั้น มันเคยเกิดขึ้นแบบนี้แล้ว ธุรกิจก็อยู่ได้ ส่วนผลกระทบรัสเซียไม่ได้มีอะไรที่ยังไม่เห็นอะไร หากไม่ได้ขยายตัว รัสเซียตลาดรับรู้ไปแล้ว และหากไม่รุนแรง ไม่มีใครคว่ำบาตรแรงก็อาจไม่ได้ผลมากนัก”นายเมธี กล่าว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นวิกฤตที่ไม่เคยเจอ ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย หรือสภาพคล่องลดลง รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้มีปัจจัยต่างๆ กระทบกับเศรษฐกิจ และตลาดทุนทั่วโลก

“ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้มากกว่าปีที่แล้ว และนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นเห็นได้จากเดือนม.ค. 2566 แค่เดือนเดียวมีเงินไหลเข้ามา 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้เงินบาทแข็งค่า 34 บาทต่อดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 38 บาทต่อดอลลาร์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้นักลงทุนพิจารณาในปีนี้ คือ ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวสูงขึ้น ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายเป็นความเสี่ยงที่ลดลง ดังนั้นนักลงทุนจะต้องติดตามข่าวสารต่างๆอยู่เสมอ และผลกระทบต่างๆของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ แต่ละอุตสาหกรรม และผลกระทบที่จะมีต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แต่ละอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างกัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เริ่มทยอยฟื้นตัว และการส่งออกสินค้าจะขยายตัวอย่างน้อย 1-2% โดยภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ร่วมทำงานเชิงรุกเจาะตลาดการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ภาคตะวันออกกลาง รวมถึงกระทรวงพาณิชย์จะต้องเจรจาการค้าเพิ่มประเทศเข้ากรอบเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มเติม คาดว่าภายใน 2 ปีประเทศไทยจะมีข้อตกลงเอฟทีเอเพิ่มเป็น 27 ประเทศ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว คาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากถึง 30 ล้านคนจากปีที่ผ่านมา 11.8 ล้านคน ทำให้นอกจากการท่องเที่ยวดี จะทำให้ภาคบริการดีและการจ้างงานก็จะดีขึ้นด้วย โดยมองว่ารัฐบาลจะต้องมีงบประมาณมาช่วยโปรโมตให้ชาวจีนเข้าเที่ยวไทยที่กำลังจะเข้ามาในไตรมาส 2 นี้ ทำให้จะเกิดการจับจ่ายใช้สอยและสร้างรายได้ให้กับประเทศ เกิดการจ้างงานและการลงทุนที่จะต้องเริ่มดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนทางตรง เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว

นายสนั่น กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือจะช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีได้อย่างไรให้เข้าถึงเงินทุนและมาตรการภาครัฐ ซึ่งมองว่าเรื่องภาษีจะมีส่วนช่วย เพราะที่ผ่านมามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง แต่เอสเอ็มอีไม่กล้าเข้าร่วมเพราะกลัวในเรื่องของภาษี ในเรื่องนี้ได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ถ้าตกลงกันได้ที่จะช่วยเอสเอ็มอีในเรื่องภาษี ก็จะมีส่วนช่วยการจ้างงานในภาคเอสเอ็มอี 2-3 ล้านคน

© 2021 thairemark.com