Friday, 24 January 2025 - 6 : 06 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปปี 2025 หดตัวจากศก.โลกเติบโตชะลอลง

SCB EIC คาดว่ารายได้อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง มูลค่าการส่งออกยางพาราไทยในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว 8.8%YOY มาอยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาส่งออกยางพาราโดยเฉลี่ยจะลดลง 6.7%YOY เนื่องจากภาวะขาดดุลในตลาดยางพาราโลกมีแนวโน้มคลี่คลาย จากความต้องการใช้ยางพาราโลกที่จะเติบโตชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

และปริมาณผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายและโรคระบาดในพืชที่ลดลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2025 จะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ราคายางพาราปรับตัวลดลงตามไปด้วย ในขณะที่ปริมาณการส่งออกยางพาราในปี 2025 จะลดลง 2.2%YOY เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มเติบโตต่ำ ซึ่งปริมาณการส่งออกที่ลดลง จะมีส่วนกดดันให้กำไรโดยรวมของอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปในปี 2025 ลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาวะภูมิอากาศสุดขั้วและการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ที่จะกระทบต่อราคาและปริมาณการส่งออกยางพารา

 อนึ่ง อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปมีผู้เล่นสี่รายครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ โดยผู้เล่นจะแข่งขันกันในด้านการกระจายแหล่งรายได้/ตลาด/วัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงด้านราคาและการมุ่งสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีการประหยัดต่อขนาด ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกราว 80% กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 4 ราย โดยกลุ่มบริษัทที่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านตลาด แหล่งวัตถุดิบและราคาได้ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปมีผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลายและพึ่งพารายได้จากตลาดโลกในระดับสูง โดยไทยเป็นผู้ส่งออกยางพาราแปรรูปอันดับ 1 ของโลก อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย โดยผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้จะรับซื้อผลผลิตยางพาราขั้นต้นจากเกษตรกรต้นน้ำ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลาง เช่น ซื้อยางก้อนถ้วยเพื่อมาแปรรูปเป็นยางแท่ง เป็นต้น (รูปที่ 1) ซึ่ง 77.6% ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จะใช้เพื่อการส่งออก โดยในปี 2023 ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ที่ 28.6%

ทั้งนี้ในปี 2023 มูลค่าการส่งออกยางพาราอยู่ที่ 3,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นราว 1.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกหลัก คือ จีน มาเลเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่งออกโดยส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ สะท้อนได้จากปริมาณการส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควันซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางล้อคิดเป็นสัดส่วนต่อปริมาณการส่งออกทั้งหมดราว 57.9% และ 13.0% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกน้ำยางข้นเพื่อไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และอื่น ๆ คิดเป็น 28.4% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายสำคัญที่อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปต้องเผชิญในระยะ 1-3 ปีที่ผ่านมา  มูลค่าการส่งออกยางพาราของไทยในปี 2023 หดตัวสูงถึง 29.3%YOY เนื่องจากปริมาณผลผลิตยางพาราไทยลดลง จากปัญหาภัยแล้งและโรคระบาดในพืช และความต้องการบริโภคในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ของประเทศคู่ค้าปรับตัวลดลง  จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการลดระดับการสต็อกสินค้าลง อย่างไรก็ดี ในปี 2024 ความต้องการบริโภคของประเทศคู่ค้ากลับมาฟื้นตัว

ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนอุปทานโลก ส่งผลให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 ราคาส่งออกยางพาราของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 30.1%YOY ในขณะที่ปริมาณการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3%YOY ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงถึง 38.4%YOY ซึ่งราคาและปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ส่งผลดีต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบธุรกิจยางพาราแปรรูปในตลาดหลักทรัพย์ (ตารางที่ 1) โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ รายได้และกำไรโดยรวมของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 22.9%YOY และ 146.9%YOY ตามลำดับ

SCB EIC คาดว่ารายได้อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงและปริมาณผลผลิตยางพาราโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัว กดดันให้ราคาปรับตัวลดลง มูลค่าการส่งออกยางพาราในปี 2025 มีแนวโน้มหดตัว 8.8%YOY มาอยู่ที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับราคาและปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวลดลง โดยราคาส่งออกยางพาราโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง 6.7%YOY มาอยู่ที่ 1,608 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

เนื่องจากภาวะขาดดุล หรือภาวะที่ผลผลิตน้อยกว่าความต้องการใช้ในตลาดยางพาราโลกมีแนวโน้มคลี่คลายลง ความต้องการยางพาราโลกมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดยางล้อรถยนต์ที่สำคัญของโลก โดย SCB EIC คาดว่า GDP สหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 1.9%YOY ในปี 2025 จากที่ขยายตัว 2.7%YOY ในปี 2024 และ 2) ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดี จากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายและโรคระบาดในพืชที่ลดลงโดยเฉพาะในไทย

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2025 ยังเป็นอีกปัจจัยกดดันให้ราคาส่งออกยางพาราปรับตัวลดลง ทั้งนี้ปริมาณการส่งออกยางพาราในปี 2025 มีแนวโน้มลดลง 2.2%YOY มาอยู่ที่ 2.8 ล้านตัน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางล้อรถยนต์ มีแนวโน้มเติบโตต่ำ ซึ่งปริมาณการส่งออกที่ลดลง จะมีส่วนทำให้กำไรโดยรวมของอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปลดลงตามไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการมีกลยุทธ์การตั้งราคาแบบบวกจากต้นทุน (Cost Plus Pricing) ซึ่งจะทำให้กำไรโดยรวม (กำไรต่อหน่วยคูณปริมาณการขาย) ปรับตัวในทิศทางเดียวกับปริมาณการส่งออก

อนึ่ง อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปยังต้องเผชิญความเสี่ยง จากภาวะเศรษฐกิจโลก สภาวะภูมิอากาศสุดขั้วและการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ โดยภาวะเศรษฐกิจโลก จะส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคยางพาราโลก ซึ่งหากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (Downside risk) ก็จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคยางพาราโลกเติบโตต่ำกว่าที่คาด และส่งผลให้ราคาและปริมาณส่งออกยางพาราของไทยลดลงมากกว่าที่คาด ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจโลกเติบโตดีกว่าคาด (Upside risk) ก็จะส่งผลให้ราคาและปริมาณส่งออกยางพาราของไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าคาดหรืออาจปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้  

ในขณะที่ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการแพร่ระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตยางพาราทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยหากปัญหาภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโรคในพืชไม่คลี่คลายอย่างที่คาด หรือมีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้น ปริมาณผลผลิตยางพาราโลกก็จะไม่ฟื้นตัวดีอย่างที่คาด ผลักดันให้ราคาส่งออกยางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้  

ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความยั่งยืน โดยเมกะเทรนด์ความยั่งยืน (Sustainability) จะทำให้ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมากขึ้นในอนาคต ซึ่งกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 30 ธ.ค. 2025 เป็นตัวอย่างความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นจากกระแสความยั่งยืน

โดย EUDR กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้ายางพาราหรือสินค้าที่ผลิตจากยางพาราไปยังตลาด EU จะต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบว่าจะต้องมาจากพื้นที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยคว้าส่วนแบ่งตลาดยางพาราใน EU หรือในประเทศที่ส่งสินค้าที่ผลิตจากยางพาราไป EU ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีความพร้อมในการดำเนินการตามระเบียบ EUDR มากกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค

อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปมีผู้เล่นสี่รายครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ โดยผู้เล่นจะแข่งขันกันในด้านการกระจายแหล่งรายได้/ตลาด/วัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงด้านราคาและการมุ่งสู่ความยั่งยืน

อุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในอุตสาหกรรมยางพาราแปรรูปเน้นการแข่งขันในด้านการขยายกำลังการผลิต เพื่อใช้ประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด ตัวอย่างเช่น กลุ่มศรีตรังมีการเพิ่มกำลังการผลิตที่เหมาะสม (Optimum capacity) จาก 1.3 ล้านตันในปี 2013 มาอยู่ที่ 2.8 ล้านตันในปี 2023 โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตของผู้ผลิตรายใหญ่ปรับตัวลดลง

ซึ่งต้นทุนที่ต่ำลงส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก (ซึ่งไม่ใช่ผู้ผลิตยางธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ) ไม่สามารถแข่งขันได้และต้องออกไปจากตลาดในที่สุด และทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย SCB EIC พบว่า ในปี 2023 กลุ่มผู้ผลิตยางพาราแปรรูปรายใหญ่ 4 อันดับแรกครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกยางพารารวมกันสูงถึง 80.0% โดยกลุ่มศรีตรัง (STA) มีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยไทยฮั้ว เซาท์แลนด์ และวงศ์บัณฑิต ในขณะที่นอร์ทอีส (NER) ไทยอีสเทิร์น (TEGH) และไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ (TRUBB) มีส่วนแบ่งตลาดมากเป็นอันดับ 10 11 และ 17 ตามลำดับ

ผู้ประกอบการจะเน้นแข่งขันในด้านการกระจายรายได้/ตลาด/แหล่งวัตถุดิบ การบริหารความเสี่ยงด้านราคาและการมุ่งสู่ความยั่งยืน ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราของคู่ค้า ราคา และปริมาณวัตถุดิบยางพารามีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงขึ้น ซึ่งลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่ปริมาณการสั่งซื้อจะลดลงกะทันหัน ไม่สามารถจัดหาสินค้ามาส่งมอบให้กับลูกค้าตามที่สัญญาและมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาดทุน

จากความผันผวนของราคา ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะซื้อแพง แต่ต้องขายถูกตามราคาในสัญญาที่ตกลงกันล่วงหน้าหรือก่อนส่งมอบ ดังนั้น ในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สูงขึ้นดังกล่าว ผู้ประกอบการจึงควรปรับตัวโดยแข่งขันกันกระจายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกที่หลากหลายและกระจายการผลิตสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งหรือรายได้จากสินค้าใดสินค้าหนึ่งมากเกินไป พร้อมกันนั้น ผู้ประกอบการก็มีการแข่งขันกันพัฒนาขีดความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบ ผ่านการซื้อวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่หลากหลาย ไม่พึ่งพาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากเกินไปและเน้นพัฒนาความสามารถในการจัดการความเสี่ยงด้านราคา ผ่านการบริหารจัดการสต็อกและการใช้สัญญาซื้อขายยางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้า

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังมีการแข่งขันในด้านการมุ่งสู่ความยั่งยืน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการใช้น้ำ การปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบด้านความยั่งยืน เป็นต้น ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตที่สามารถจัดการความเสี่ยงด้านตลาด แหล่งวัตถุดิบและราคาได้ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 ทั้งนี้ในระดับประเทศ อินโดนีเซียและโกตดิวัวร์ คือ คู่แข่งที่สำคัญของไทย โดยในปี 2023 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดยางพาราโลกมากสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ 28.7% ตามมาด้วยอินโดนีเซียและโกตดิวัวร์ที่มีส่วนแบ่งตลาด 19.7% และ 16.3% ตามลำดับ  ในขณะที่จีน สหรัฐฯ และมาเลเซียเป็นตลาดนำเข้ายางพาราที่สำคัญของโลก มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันสูงถึง 44.4% ของมูลค่าการนำเข้ายางพาราทั้งหมดของโลก

โดย:ดร.เกียรติศักดิ์ คำสี นักวิเคราะห์อาวุโสศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

© 2021 thairemark.com