Friday, 24 January 2025 - 12 : 21 pm
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

กูเกิล ประกาศลงทุน 3.6หมื่นล้าน ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.4 แสนล้าน

กูเกิล (Google) ประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ (Cloud Region) พร้อมสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และ ชลบุรี ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท คาดช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท สร้างงาน 70,000 ตำแหน่งใน 5 ปี

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของกูเกิล จะช่วยผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างรวดเร็ว และขอขอบคุณความพยายามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่คนไทยหลายล้านคน

“การลงทุนในศูนย์ข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ของกูเกิลในกรุงเทพฯ และชลบุรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการประมวลผลคลาวด์ และ AI สอดกล้องกับนโยบายคลาวด์เป็นหลักของรัฐบาล และจะช่วยปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน”

นางรูธ โพรัท ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน Alphabet และ Google กล่าวว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของกูเกิล ในประเทศไทย จะช่วยขยายโอกาสให้คนไทยในยุคดิจิทัล โดยการลงทุนนี้จะช่วยส่งเสริมธุรกิจไทย นวัตกร และชุมชน ให้เข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ทั้งนี้ จากการศึกษาของ ดีลอยท์ คาดว่าการลงุทนโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แก่จีดีพีประเทศไทย ภายในปี 2572 พร้อมสร้างตำแหน่งงานโดยเฉลี่ย 14,000 ตำแหน่งต่อปีในช่วงปี 2568 – 2572 หรือกว่า 70,000 ตำแหน่ง ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

สำหรับจุดเริ่มต้นของการประกาศเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ (Cloud Region) ของกูเกิล เกิดขึ้นตั้งแต่การประกาศในปี 2565 ต่อเนื่องด้วยการทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลเร่งผลักดันนโยบายการใช้งานระบบคลาวด์เป็นหลัก (Cloud-First Polocies) รวมถึงการลงทุนพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่ทั้งบุคลากรภาครัฐ และประชาชนอย่างต่อเนื่อง

โดยโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ จะตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ และศูนย์ข้อมูล จะอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม 4 ในพื้นที่อีอีซี ของ WHA จังหวัด ชลบุรี ซึ่งจะมาช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้งานกูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) และ AI รวมถึงบริการต่างๆ ของกูเกิลซึ่งเป็นที่นิยมในไทยทั้ง กูเกิล เสิร์ช กูเกิลแมปส์ และกูเกิล เวิร์กสเปซ

ขณะเดียวกัน การเข้ามาลงทุนในครั้งนี้ นับเป็นการต่อยอดการลงทุนของกูเกิล ตลอดระยะเวลาเกือบ 13 ปีที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทย ซึ่งในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ และโครงการต่างๆ ของกูเกิล สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในประเทศถึง 250,000 ตำแหน่ง และสร้างผลประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมให้ภาคธุรกิจไทยไปแล้วกว่า 4,300 ล้านเหรียญ (ราว 1.38 แสนล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนต่อเนื่องในโครงการด้านความรู้เท่าทัน AI (AI Literacy) ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากูเกิล ฝึกอบรมคนไทยทั้งในกลุ่มของนักเรียน นักการศึกษา ผุ้ประกอบการ SME และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไปมากกว่า 3.6 ล้านคน

พร้อมกันนี้ กูเกิล ได้วางแผนลงทุน และสนับสนุนในการทำให้ทักษะดิจิทัลเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ อย่างการร่วมพัฒนาทักษะด้าน AI ในไทย ผ่านองค์กรในประเทศ เพื่อร่วมมุ่งผลักดันประเทศไทยสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่ระบบดิจิทัล ด้วยการส่งเสริมคนไทย 150,000 คนภายในปี 2569

รวมถึงการทำงานร่วมกับพันธมิตรในไทย ในการฝึกโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model – LLM) ด้วยการเข้าถึงชุดข้อมูลภาษาไทย แบบโอเพนซอร์ส ที่จะช่วยพัฒนาโมเดลภาษาให้เข้าใจบริบททางวัฒนธรรม ภายใต้โครงการซีลด์ (SEALD) ที่ถูกริเริ่มโดย AI Singapore เพื่อศึกษาภาษาที่ใช้ในอาเซียนร่วมกัน

© 2021 thairemark.com