Sunday, 24 November 2024 - 9 : 26 am
kanda_002
OIC_001
data-no-lazy="1"
kanda_002
OIC_001

‘พิพัฒน์’ ชี้ ไทยต้องพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานแรงงานดิจิทัลเพื่อหนุนเศรษฐกิจยั่งยืน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยกระดับศักยภาพแรงงานไทยระดับสากล สู่การจ้างงานยุคดิจิทัลเพื่อเติบโตของเศรษฐกิจไทยสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน” ในงาน “ยกระดับแรงงานดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน” Thailand Digital Employer Day 2024 และ พิธีประกาศผลและมอบรางวัลผู้ชนะเลิศการแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2024 รอบประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นโดย  ICDL Thailand ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาดิจิทัล และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟแวร์ไทย โดยการสนับสนุนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ใจความว่า ปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น การพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ได้ “คุณภาพ” และ “มาตรฐานระดับสากล”ให้กับแรงงานไทย จึงไม่ได้เป็นเพียงทางเลือก แต่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบุคลากรทุกคนในทุกสถานประกอบการ

“จากการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว ธุรกิจของนายจ้างทุกองค์กรย่อมได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายองค์กรได้ลงทุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่ยังมีปัญหาที่คนทำงานไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้เต็มที่ ทำให้ขาดประสิทธิภาพและโอกาสทางธุรกิจ เพื่อให้คนทำงานและแรงงานสามารถทำงานกับเทคโนโลยีได้คล่องแคล่วจริง เก่งจริง และนำพาองค์กรนายจ้างไปสู่ความสำเร็จ จึงจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาแรงงานไทยให้มีทักษะดิจิทัลที่ได้มาตรฐานที่ดี”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการปูพื้นฐานทักษะดิจิทัลให้กับแรงงานตั้งแต่ระดับฐานรากซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ให้เกิดการพัฒนาตั้งแต่ระดับพื้นฐานในทุกๆสถานประกอบการ เพราะเมื่อแรงงานไทยได้รับการพัฒนาทักษะดิจิทัลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานในสถานประกอบการ ช่วยลดต้นทุนในการสูญเสียจากความไม่รู้ ไปได้อย่างมีนัยสำคัญ  นอกจากนี้ การมี Micro-Credential ที่เที่ยงตรงและน่าเชื่อถือจะช่วยให้ทักษะและสมรรถนะถูกยอมรับและนำไปใช้ได้จริง  ทั้งในการสมัครเรียนต่อ สมัครงาน การคัดเลือกคนเข้าทำงาน  และเลื่อนตำแหน่งงานในองค์กร รวมถึงเป็นประโยชน์ในการกำหนดค่าตอบแทนและค่าแรงที่เหมาะสมในอนาคต  ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายในการยกระดับคุณภาพและค่าจ้างของแรงงานตามนโยบายของกระทรวงและพรรคร่วมรัฐบาล

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า การพัฒนาทักษะดิจิทัลเป็นเรื่องที่ไร้พรหมแดนและเปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา  มาตรฐานสากล ICDL ที่จะได้ร่วมมือเป็นภาคีพันธมิตร ถือเป็นมาตรฐานสากลที่มีคุณภาพ เป็นที่เชื่อถือและใช้กันทั่วโลกอย่างกว้างขวางในกว่า 100 ประเทศมาแล้วกว่า 25 ปี หากสามารถร่วมมือกันใช้เวลาในการพัฒนาแรงงานไทยให้มีทักษะดิจิทัลระดับมาตรฐานสากลที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้เวลาสร้างมาตรฐานใหม่ เชื่อว่าภายในเวลา 3 ปี จะสามารถพลิกโฉมแรงงานไทยให้เก่งดิจิทัลและเป็นศูนย์กลางแรงงานดิจิทัลคุณภาพของภูมิภาคได้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมประเทศไทยได้

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยต้องการกำลังแรงงานด้านดิจิทัล จำนวนมากกว่า 140,000 คน โดยมีผู้ประกอบการในสาขาดิจิทัลมากกว่า 13,000 ราย แต่พบว่าในปี 2568 อุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทย ยังมีการขาดแคลนแรงงานที่ใช้ทักษะในด้านดังกล่าว มากกว่า 40,000 คน ซึ่งสาขาที่ขาดแคลน เช่น วิศวกรซอฟต์แวร์, นักวิเคราะห์ข้อมูล, นักพัฒนา AI และ Machine Learning, ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์, ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Blockchain, นักออกแบบอินเตอร์เฟซ UX/UI, ผู้พัฒนาโปรแกรม DevOps, นักการตลาดดิจิทัล เป็นต้น ดังนั้น กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงจำเป็นต้องบูรณาการกับทุกหน่วยงาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัลอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบรับการเติบโตทางอุตสาหกรรมและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพและความสามารถในการแข่งขันให้ไทยเป็นผู้นำแรงงานดิจิทัลในอาเซียน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับ โครงการ Thailand Digital Employer Day เป็นหนึ่งในโครงการที่จะสะท้อนว่า เราได้ร่วมกันพัฒนาทักษะดิจิทัลของแรงงานไทย จนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับโดยฝั่งนายจ้างที่เป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นโครงการที่สำคัญโครงการหนึ่ง ที่จะยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทยแบบครบวงจร เพราะการที่นายจ้างรับรองผลลัพธ์การพัฒนาทักษะดิจิทัล นั่นหมายถึงการขับเคลื่อน คุณภาพแรงงานไทยไปอีกขั้นอย่างมีนัยสำคัญ ในการจัดงานครั้งนี้จึงหวังว่าจะเป็นการจุดประกายให้กับนายจ้างและผู้ประกอบการทุกท่านเห็นว่า บัดนี้เรากำลังจะมีคนที่เก่งดิจิทัลระดับสากลมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานให้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้นายจ้างและผู้ประกอบการมีบุคลากรคุณภาพทำงานให้กับองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพขององค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ

“สำหรับน้องๆ เยาวชน ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการแข่งขัน ICDL  Digital Challenge 2024 ทุกคน ความสำเร็จของน้องๆไม่เพียงแต่สร้างชื่อเสียงให้ตนเองและสถาบัน แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยรวมถึงบุคลากรที่ทำงานในสถานประกอบการ ได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะดิจิทัล และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทุกคน ผมขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า การพัฒนาทักษะดิจิทัลเป็นการลงทุนในอนาคตของตัวเอง ขององค์กร และของประเทศชาติ เราทุกคนต้องร่วมมือกันสร้างกำลังคนและแรงงานดิจิทัลที่มีคุณภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุค 4.0 อย่างมั่นคงและยั่งยืน การจัดงานในครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญด้านทักษะดิจิทัลของแรงงานไทย สู่อนาคตชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน และการเติบโตทางธุรกิจของนายจ้างผู้ประกอบการ และอนาคตที่สดใสของประเทศไทย”นายพิพัฒน์ กล่าว

นายเดเมี่ยน โอ ซัลลิแวน (Mr.Damien O’ Sullivan) ประธานผู้บริหารมูลนิธิ ICDL Global กล่าวว่า ทางออกและแนวทางแก้ปัญหาการพัฒนาทักษดิจิทัลให้แรงงานและบุคลากร คือการ “พัฒนาทักษะใหม่ และทบทวนทักษะเดิม” โดยยกระดับทักษะดิจิทัลให้กับบุคคลผ่านการรับรองสมรรถนะทักษะดิจิทัล ซึ่งจะเป็นการวัดระดับทักษะที่ได้รับการยอมรับ ช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงาน และสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การรับรองสมรรถนะทักษะนี้มีประโยชน์ไม่เพียงแต่สำหรับบุคคลที่เพิ่มความมั่นใจและประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้การศึกษาโดยเสริมสร้างคุณวุฒิทางวิชาการด้วยทักษะปฏิบัติ และต่อผู้ประกอบการโดยการยืนยันความสามารถของบุคลากรอย่างเป็นทางการ และสามารถจัดการแนะนำแผนการฝึกอบรมพัฒนาสำหรับรายบุคคลได้ต่อไปอีกด้วย

นอกจากนี้ ในการจัดงานยังได้มีการประกาศผลและมอบรางวัลผู้ชนะเลิศการแข่งขัน ICDL Digital Challenge 2024 รอบประเทศไทย ให้กับเยาวชนของไทย โดยมี อาจารย์เขมิษา บุณยเกียรติ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ผลักดันการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับบรรดาเยาวชนไทย และ ดร.อธิชาติ ชุมนานนท์ ร่วมให้กำลังใจและชื่นชมกับเยาวชนที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย

© 2021 thairemark.com