เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงาน “Unlocking Sustainable Trade: พาณิชย์เปิดประตูสู่การค้าที่ยั่งยืน” โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย
และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย เข้าร่วม ที่ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ ว่ากระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงความท้าทายรอบด้านที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ กฎกติกาการค้าใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ “ความยั่งยืน” กลายเป็นกติกาสากลของโลกที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว ให้เท่าทัน ตนจึงได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่
ภายใต้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายเชิงรุกกระทรวงพาณิชย์ ที่มี รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ เป็นประธานอนุกรรมการ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เป็นฝ่ายเลขานุการ หาแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดงานวันนี้ ในการเปิดตัวคลังความรู้ “พาณิชย์คิดค้า อย่างยั่งยืน” (คิดค้า.com/moc-sdgs) เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระทรวงพาณิชย์สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)ขององค์การสหประชาชาติ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคธุรกิจ ชี้ให้เห็นว่า การทำธุรกิจการค้าในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถมองแค่เรื่องการเพิ่มผลกำไร แต่ต้องให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
โดยสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตของธุรกิจ และใส่ใจให้คุณค่ากับชุมชนสังคม และสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ โดยคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาการค้าตามระเบียบการค้าโลกใหม่ ได้จัดทำคลังความรู้ “พาณิชย์คิดค้าอย่างยั่งยืน” เป็นเครื่องมือของกระทรวงพาณิชย์ ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการค้าที่ยั่งยืน ของกระทรวงพาณิชย์ไว้ในแหล่งเดียว ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านการค้าที่ยั่งยืน ช่วยนำทางในการทำธุรกิจการค้าอย่างยั่งยืน จึงถือว่างานในวันนี้ เป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทยในการเสริมสร้างและยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สอดรับกับกติกาการค้าในโลกยุคใหม่
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงบูธนิทรรศการเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความยั่งยืน ของหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานพันธมิตร และได้นำตัวอย่างสินค้ายั่งยืนที่โดดเด่น รวมทั้ง การให้บริการที่สนับสนุนความยั่งยืนมาจัดแสดงภายในงาน เช่น สินค้าเกษตรนวัตกรรมภายใต้โครงการ Agri Plus Award 2024 ตัวอย่างสินค้า SDGs จากส่วนภูมิภาค สินค้ายั่งยืนจากผู้ประกอบการชุมชนมีดี (SMART Local ME-D) นอกจากนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการนำเสนอการขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืน อาทิ สถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค (CE Academy) และสินเชื่อสีเขียวจากธนาคารพันธมิตรเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สำหรับงานช่วงบ่าย เป็นการจัดเสวนาโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงพาณิชย์ และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์จริง สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นเวทีสำหรับสร้างพันธมิตรที่จะจับมือเดินหน้าไปสู่การค้าที่ยั่งยืนไปด้วยกัน การเสวนาแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) กฎระเบียบและมาตรการภายใต้ระเบียบการค้าโลกใหม่ที่ผู้ประกอบการต้องรู้ (2) การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเปิดประตูสู่การค้าที่ยั่งยืนในต่างประเทศ
และ (3) การปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการไทยภายในประเทศ การจัดงานในวันนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงพาณิชย์ในการสนับสนุนการค้าที่ยั่งยืน และ เชิญชวนทุกภาคส่วนให้ร่วมกันพัฒนาสู่การค้าที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของคนไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในเวทีโลกได้อย่างแท้จริง